วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

วัคซีนมาจากไหน


วัคซีน

วัคซีน (อังกฤษ: vaccine) เป็นสารที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์หรือสัตว์ ให้สามารถป้องกันร่างกายจากอาการติดเชื้อเฉพาะอย่างได้ โดยการติดเชื้อนี้ ส่วนใหญ่มาจากแบคทีเรีย, ไวรัส, หรือสารพิษ

วัคซีนบางชนิดผลิตจากแบคทีเรียหรือไวรัสที่ถูกทำให้หมดฤทธิ์แล้ว หรือทำจากสารพิษที่ถูกทำให้หมดความเป็นพิษแล้ว บางชนิดผลิตจากการนำส่วนที่ก่อโรคของเชื้อจุลชีพมาเพียงบางส่วน สร้างโดยการสังเคราะห์จากเทคโนโลยีชีวภาพ ตัวอย่างของวัคซีนที่สร้างจากเชื้อที่ทำให้อ่อนแรง ได้แก่ วัคซีนโปลิโอชนิดหยอด (OPV) วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella)วัคซีนงูสวัด ตัวอย่างของวัคซีนที่สร้างจากสารพิษ ได้แก่ วัคซีนคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก (DPT) ตัวอย่างของวัคซีนที่สร้างจากเทคโนโลยีชีวภาพ ได้แก่ วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี (JE vaccine)

หลักการโดยทั่วไปของวัคซีนคือ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายรู้จักกับเชื้อที่ไม่เคยเจอมาก่อน เพื่อที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะได้รู้ว่าจะรับมือกับเชื้อชนิดนั้น ๆ ได้อย่างไร



จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี





การค้นพบวัคซีนฝีดาษ

ฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (small pox) เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงมากโรคหนึ่ง Abu Bakr Mohammad Ibanal Zakariya al-Razi (865-925) แพทย์ชาวอิหร่านเป็นคนแรกที่บรรยายโรคนี้ในตำราภาษาอาหรับชื่อ kitab fi al-judari wa al-Hasbah. ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีตุ่มพุพองตามร่างกายและมีอัตราการตายสูง เชื้อโรคนี้จึงมีชื่อว่า Variola มาจากภาษาละติน "varus" ที่แปลว่า "ตุ่มตามตัว" จากหลักฐานการตรวจมัมมี่พบว่าโรคนี้น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณแล้ว ความน่ากลัวของมันทำให้มนุษย์ต้องคิดค้นหาทางป้องกัน

มีบันทึกถึงการป้องกันโรคนี้ครั้งแรกในประเทศจีน เมื่อลูกชายของนายกรัฐมนตรี Wang Tan (957-1017) เสียชีวิตจากโรคนี้ เขาจึงประกาศหาคนที่ทราบวิธีป้องกันโรค มีนักบวชผู้หนึ่งจากมณฑลเสฉวน เขาหรือเธอ (ข้อมูลไม่ได้ระบุเพศไว้) นำเชื้อจากคนที่เป็นโรคใส่ในโพรงจมูกคนปกติพบว่าสามารถ ป้องกันโรคได้ วิธีนี้เรียกว่า inoculation ซึ่งพัฒนาต่อๆ มาจนเปลี่ยนไปทำที่ผิวหนังแทน วิธีการนี้ไปสู่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกีผ่านทางคาราวานสินค้า เมื่อ ค.ศ. 1670

ฝีดาษ เริ่มปรากฏในประเทศอังกฤษราว ค.ศ. 1240 จากนั้นก็ระบาดไปทั่วยุโรป ค.ศ. 1715 Lady Mary Wortley Montagu (1698-1762) ผู้หญิงที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในอังกฤษขณะนั้นป่วยเป็นฝีดาษเป็นผลให้เธอเสียโฉม
เดือนมีนาคม ค.ศ. 1718 สามีของเธอย้าย ไปประจำที่สถานทูตในกรุงอิสตันบูล เธอจึงได้รู้จัก inoculation และมอบหมายให้ Charles Maitland (1688-1744) ศัลยแพทย์ชาวสก๊อต inoculate ลูกชายวัย 5 ขวบของเธอ พอถึงเดือนเมษายนค.ศ. 1721 เธอกลับมาที่กรุงลอนดอนและให้ Maitland ทำเช่นเดียวกันกับลูกสาววัย 4 ขวบท่ามกลางแพทย์ทั้งหลาย

พระราชินีแห่งเวลส์ทราบข่าวจึงพระราชทานอนุญาตให้ Maitland ทำการทดลองกับนักโทษจำนวน 6 คนในเดือนสิงหาคมปีนั้นเอง ซึ่งได้ผลดีในเดือนเมษายนปีต่อมาเขาก็ได้ inoculate ให้กับพระธิดาทั้งสองของพระองค์ วิธีการนี้จึงเป็นที่ยอมรับตั้งแต่นั้นมาจนมีการก่อตั้งโรงพยาบาลเพื่อทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ

ต่อมา ค.ศ. 1768 Robert Sutton เสนอวิธีใหม่ในการ inoculate โดยเขาใช้เข็มเจาะเลือดปลายนิ้ว (lancet) เจาะตุ่มในผู้ป่วยแล้วนำไปจิ้มต้นแขนคนปกติ

ค.ศ. 1774 เกิดการระบาดของฝีดาษที่ชนบทใน Yetminster เกษตรกรชาวอังกฤษ Benjamin Jesty (1737-1816) ซึ่งเคยเป็นโรคนี้ตอนเด็ก เขาสังเกตว่ามีคนงานรีดนม 2 คนสัมผัสโรคแต่ไม่ป่วย สอบถามจึงทราบว่าทั้ง 2 เคยเป็นฝีดาษวัว (cow pox) มาก่อน โชคดีที่มีฝีดาษวัวระบาดที่ฟาร์มใกล้เคียง Jesty จึงใช้เข็มขีดที่แขนของภรรยาและลูกชายอีก 2 คนแล้วใส่หนองจากวัวที่ติดเชื้อลงไป ทั้งสามผ่านการระบาดไปได้โดยไม่ติดเชื้อ

Edward Jenner (1749-1823) แพทย์ชาวอังกฤษที่ชนบทในเมือง Berkeley ขณะนั่งดูชาวบ้านทำงานในฟาร์ม เขาได้ยินหญิงรีดนมโค 2 คนพูดหยอกล้อกันว่า "พวกเราไม่เป็นฝีดาษหรอกเพราะเราเคยเป็นฝีดาษวัวแล้วไง" พูดเสร็จก็หัวเราะกันใหญ่เพราะคนส่วนมากจะขำไปกับมุขนี้. Jenner ก็เช่นกันแต่ เมื่อเขาหัวเราะจบ เรื่องไม่ได้จบอยู่แค่นั้น เขาคิดได้ว่าคนรีดนมวัวที่เคยเป็นฝีดาษวัวแล้ว อาจจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคฝีดาษ?

เหตุการณ์สำคัญเริ่มต้นเมื่อเขาพบ Sarah Nelmes ซึ่งเป็นฝีดาษวัว และมีแผลที่นิ้วมือ Jenner รู้จักกับ James Phipps เด็กชายวัย 8 ขวบซึ่งยังไม่เคยเป็นทั้งฝีดาษวัวและฝีดาษ เขาจึงไปขออนุญาตจากผู้ปกครองและได้รับความยินยอมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1796 เขาทดลองโดยข่วนที่แขนของเด็กแล้วนำหนองจาก Nelmes หยดลงที่รอยข่วน. อีก 2 เดือนต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม เขาก็ inoculate เด็กด้วยหนองจากผู้ป่วยฝีดาษ ปรากฏว่าเด็กไม่มีอาการของโรคเลย

เขาประสบความสำเร็จในการทดลองกับอาสาสมัครอีก 23 คน Sir Walter Farguhar แนะนำให้เขาเก็บเป็นความลับเพราะมันจะทำเงินมหาศาล แต่ เขาก็ส่งรายงานไปที่ราชสมาคมแห่งลอนดอนเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร Philosophical Transactions แต่ถูกปฏิเสธ. เขาจึงทำการทดลองเพิ่มเติมและใช้ทุนส่วนตัวพิมพ์หนังสือเองชื่อ An Inquiry Into the causes and effects of Variolae Vaccinae ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1798

ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก Jesty กระทั่ง ค.ศ. 1797 เขาย้ายครอบครัวมาอยู่ที่ Purbeck ผู้คนจึงทราบว่ามีการพบสิ่งนี้ก่อน Jenner ถึง 20 ปี มีแต่คนยกย่องว่า Jenner เป็นคนค้นพบเรื่องนี้ แต่ตัวเขาเองไม่เคยยอมรับมัน ตลอดเวลาเขาทุ่มเทให้กับการป้องกันโรคนี้ จนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1823 โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าสาเหตุของโรคนี้เกิดจากอะไร
ในเรื่องนี้ Jenner แสดงให้เห็นว่ แม้จะไม่ได้ทำงานอยู่ในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงแต่ถ้าเรามีความพยายามใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ และสนใจในสิ่งรอบข้างแม้มันจะดูไร้สาระก็ตามคุณก็สามารถค้นพบสิ่งสำคัญๆ ได้



ข้อมูลจาก มูลนิธิหมอชาวบ้าน

วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553

ร่มมาจากไหน


ร่มที่เรียกว่า Umbrella มีรากศัพท์มาจากคำว่า Umbra ซึ่งเป็นภาษาละติน แปลว่า "บังแดด" เกิดขึ้น เมื่อราว 3,400 ปีก่อน ในดินแดนเมโสโปเตเมีย ซึ่งเป็นดินแดนที่ร้อนระอุตลอดทั้งปี จึงมีการใช้ร่มบังแดด

ชาวกรีกได้รับเอาวัฒนธรรมการกางร่มมาจากอียิปต์ ซึ่งเชื่อกันว่า ท้องฟ้าคือร่างกายของเทพธิดานามว่า "นัต" ซึ่งปกคลุมโลกดุจร่มอันมหึมา มนุษย์จึงได้คิดสร้างร่มขึ้นไว้เป็นตัวแทนของเทพธิดานัต เพื่อใช้ปกป้องคุ้มครองผู้ที่อยู่ใต้ร่มเงา ผู้ที่จะกางร่มได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจเท่านั้น

------------------------------ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย


ต้นกำเนิด "ร่ม"
ร่มกำเนิดขึ้นเมื่อ ๓,๔๐๐ ปีมาแล้วในดินแดนเมโสโปเตเมียเป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งและเกียรติยศ ร่มเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ต่อเติมเสริมขึ้นจากพัด ร่มยุคแรกเริ่มไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องชาวเมโสโปเตเมียนจากการเปียกฝน เพราะฝนแทบจะไม่ตกเลยในดินแดนทะเลทายแห่งนี้ แต่ร่มช่วยป้องกันพวกเขาจากแสงแดดอันร้อนแรง เป็นเวลาต่อมาอีกหลายศตวรรษที่ร่มทำหน้าที่เพียงบังแดด ข้อเท็จจริงนี้เห็นได้อย่างชัดเจนจากคำว่า ร่ม-umbrella มีรากศัพท์จากคำภาษาลาติน “umbra” ซึ่งแปลว่า “บังแดด

พอถึงราว ๑,๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ร่มของชาวอียิปต์เริ่มมีความสำคัญในแง่ของศาสนา ในยุคนั้นเชื่อกันว่าแผ่นฟ้าทั้งหมดคือร่างกายของเทพธิดานัต ซึ่งแผ่ปกคลุมโลกเฉกเช่นร่มคันใหญ่มหึมา เทพธิดานัตสัมผัสพื้นผิวโลกด้วยนิ้วเท้าและปลายนิ้วมือของเธอเท่านั้น ด้วยความเชื่อดังกล่าว ร่มซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นจึงเปรียบเสมือนภาคหนึ่งขององค์เทพธิดานัตบนพื้นโลก และจะกางเหนือศีรษะของผู้สูงศักดิ์เท่านั้น การได้รบเชิญให้ยืนภายใต้ร่มของกษัตริย์ถือเป็นเกียรติยศสูงสุด ร่มเงานั้นเปรียบได้กับการปกป้องคุ้มครองของกษัตริย์ วัสดุที่ใช้ทำร่มในสมัยนั้นเป็นวัสดุชนิดเดียวกับที่ใช้ทำพัด ได้แก่ ใบเฟินขนนก และต้นกกที่ตีแผ่ออก

ชาวกรีกและชาวโรมันได้หยิบยืมหลายสิ่งจากวัฒนธรรมของชาวอียิปต์ รวมทั้งการใช้ร่ม แต่พวกเขาถือต่างออกไปว่าร่มเป็นของใช้เฉพาะสตรีเท่านั้น ผู้ชายแทบจะไม่ใช้ร่มกันเลยมีเพียงโอกาสเดียวเท่านั้นที่ผู้ชายกรีกจะถือร่มได้โดยไม่ถูกมองจากผู้คนรอบข้างว่าประหลาด นั่นคือเมื่อเขากางร่มนั้นให้แก่เพื่อนหญิงที่มาด้วยกัน

ผู้หญิงโรมันเป็นผู้ริเริ่มทาน้ำมันลงบนร่มกระดาษเพื่อให้สามารถกันน้ำได้ นักประวัติศาสตร์โรมันบันทึกไว้ว่า ฝนตกปรอย ๆ ที่โรงละครครึ่งวงกลมกลางแจ้ง เป็นสาเหตุให้ผู้ชมสตรีนับร้อยพากันกางร่มขึ้นจนปิดบังสายตาและก่อความรำคาญให้แก่ผู้ชมเพศชายยิ่งนัก ข้อถกเถียงเรื่องการใช้ร่มกันฝนตามงานสาธารณะเกิดขึ้นและลุกลามใหญ่โต จนกระทั่งในศตวรรษที่ ๑ แห่งคริสตกาล ประเด็นโต้แย้งนี้ขึ้นไปถึงจักรพรรดิโดมิเทียนในที่สุดทรงตัดสินเข้าข้างฝ่ายสตรี โดยอนุญาตให้สามารถใช้ร่มกันฝนได้ในที่สาธารณะ

ร่มบังแดด และร่มกันฝนยังคงเป็นของใช้เฉพาะสตรีมาจนถึงศตวรรษที่ ๑๘ ในยุโรป และหลังจากนั้นในอเมริกา ส่วนผู้ชายจะสวมเพียงหมวกและยอมเปียกปอนเมื่อฝนตก นักเขียนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเขียนบรรยายอารมณ์ความรู้สึกของคนยุโรปต่อผู้ชายที่ถือร่มไว้ว่า “ถ้าผู้หญิงฝรั่งเศสเห็นผู้ชายคนใดถือร่มติดตัว พวกหล่อนจะลงความเห็นว่า ชายผู้นั้นช่างอ่อนแอไม่สมเป็นชายเลย”

โจนาส แฮนเวย์ สุภาพบุรุษชาวอังกฤษ คือบุคคลแรกที่ทำให้ร่มเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เป็นเครื่องช่วยป้องกันฝนสำหรับผู้ชาย ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จ สามารถเปลี่ยนค่านิยมเก่าได้ เขาต้องใช้ความอุตสาหะอย่างยิ่งยวด ฟันฝ่าการดูถูกเหยียดหยามล้อเลียนจากสังคม เริ่มในปี ค.ศ. ๑๗๕๐ แฮนเวย์จะพกร่มติดตัวเสมอเวลาออกนอกบ้าน ไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก บรรดาคนรู้จักในวงการธุรกิจต่างมองว่าเขาเป็นกะเทย พวกวัยรุ่นตามข้างถนนจะโห่ฮาเมื่อเขาเดินผ่านไปส่วนพวกคนขับรถม้าก็มักจะแกล้งแล่นรถผ่านหลุมบ่อที่มีน้ำขังให้โคลนกระเซ็นเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าของแฮนเวย์ เพราะพวกเขาเกรงว่าถ้าการใช้ร่มเพื่อกันฝนเกิดเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย การทำมาหากินของพวกเขาจะถูกกระทบโดยตรง

แต่แฮนเวยไม่เคยท้อแท้ เขาถือร่มติดตัวเสมอตลอดช่วง ๓๐ ปีหลังของชีวิต ในไม่ช้าพวกผู้ชายค่อย ๆ เริ่มตระหนักว่าการลงทุนซื้อร่มเพียงครั้งเดียว ถูกกว่าการเรียกรถม้าทุกครั้งที่ฝนตก ยิ่งโดยเฉพาะในกรุงลอนดอนด้วยแล้วจะเป็นการประหยัดอย่างมหาศาล บางทีอาจจะเป็นเพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ หรือจะเป็นด้วยความคุ้นชินตา ในที่สุดตราประทับของความอ่อนแอ ความไม่เป็นชายที่ติดมากับร่มก็ถูกลบล้างไป ก่อนที่โจนาส แฮนเวย์ จะถึงแก่กรรม ในปี ๑๗๘๖ สุภาพบุรุษชาวอังกฤษต่างพกพาร่มติดตัวกันทั่วหน้าในวันที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน

-----------------------------------------------------------------------------------ขอบคุณข้อมูลจาก ครูบ้านนอก