วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เหล็ก มาจากไหน

ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเหล็ก ซึ่งมีอยู่มากมายและใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันเมื่อมองไปรอบๆ ตัวก็จะพบว่าสิ่งที่ทำมาจากเหล็ก ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ ช้อน ซ่อม แม้กระทั้งรถยนต์หรือที่อยู่อาศัยของเรา ก็มีองค์ประกอบเป็นเหล็ก แล้วเคยสงสัยหรือไม่ว่าเหล็กมาจากไหนแล้วมนุษย์เรานำเหล็กมาใช้ได้อย่างไร




จากข้อมูล เหล็กเป็นโลหะที่สำคัญ ซึ่งใช้มากกว่าโลหะชนิดอื่นๆ ทั่วโลกผลิตเหล็กประมาณร้อยละ 96 ของโลหะทั้งหมดโดยเฉลี่ยในแต่ละปี การผลิตเหล็กในอุตสาหกรรม เริ่มเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 9 แต่ยังมีอุปสรรคในการผลิตและไม่สามารถผลิตเหล็กได้ครั้งละมากๆ ยุคเหล็ก (Iron Age) จึงเริ่มต้นอย่างจริงจังในพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีการถลุงเหล็กจากแร่เหล็ก โดยใช้เตาถลุงแบบพ่นลม (blast furnace) เชื้อเพลิงที่ใช้ในตอนแรกคือถ่านไม้ ต่อมาใช้ถ่านหิน (coal) ปัจจุบันนี้ใช้ถ่านโค้ก (coke) แทนถ่านหิน เหล็กที่ผลิตได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นเหล็กคุณภาพไม่ดีนัก ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเหล็กถลุง (pig iron) แม้จะเป็นเหล็กคุณภาพไม่ดี แต่ก็มีผู้นิยมนำไปใช้ประโยชน์ เพราะมีคุณสมบัติดีกว่าโลหะอื่นๆ ในพุทธศตวรรษที่ 23 เซอร์ เฮนรี เบสเซเมอร์ (Sir Henry Bessemer, ค.ศ. 1813 -1893 วิศวกรชาวอังกฤษ) พบวิธีทำเหล็กถลุงให้มีคุณ-สมบัติดีขึ้นเรียกว่า เหล็กกล้า (steel) ซึ่งสามารถชุบเพิ่มความแข็งได้ และมีคุณสมบัติอื่นๆ ดีขึ้น การค้นพบของเซอร์ เฮนรี เบสเซเมอร์ ทำให้สามารถผลิตเหล็กกล้าได้อย่างรวดเร็ว ครั้งละมากๆ และประหยัด ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก

แร่เหล็กมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีส่วนประกอบแตกต่างออกไป แร่เหล็กมีกระจัดกระจายเกือบทั่วโลก แต่แร่เหล็กที่มีคุณภาพดี มีจำนวนเนื้อแร่สูง และมีปริมาณแร่มากพอที่จะใช้ผลิตเหล็กได้มีอยู่ไม่มากแห่งนักชนิดของแร่เหล็กมีดังนี้คือ

1. แร่ฮีมาไทต์ (hematite) เป็นแร่ที่เหมาะจะใช้ถลุงเหล็ก เหล็กของแร่นี้อยู่ในรูปของออกไซด์ มีสูตรทางเคมีว่า Fe2O3 เป็นแร่เหล็กที่มีสีแดง มีเหล็กประมาณร้อยละ 70 พบมากในประเทศสหรัฐ-อเมริกา สหภาพโซเวียตออสเตรเลีย

2. แร่แมกนีไทต์ (magnetite) เป็นแร่ที่เหมาะจะใช้ถลุงเหล็กเช่นเดียวกับ แร่ฮีมาไทต์ มีสูตรทางเคมีว่า Fe3O4 มีสีดำ และมีเหล็กประมาณร้อยละ 72- 73 พบมากในประเทศสหรัฐอเมริกา สวีเดน และประเทศจีน

3. แร่ซิเดอไรด์ (siderite) เป็นแร่สีน้ำตาลมีจำนวนเนื้อแร่ต่ำ และเหล็กอยู่ในรูปของคาร์บอเนตมีสูตรทางเคมีว่า FeCO3 มีเหล็กประมาณร้อยละ 47-49 ไม่ค่อยนิยมนำไปถลุงเพราะมีปริมาณเหล็กต่ำ แร่ชนิดนี้ พบมากในประเทศสหรัฐอเมริกาสหราชอาณาจักรและเยอรมัน

4. แร่ไลมอไนต์ (limonite) แร่ชนิดนี้มีสีน้ำตาลเหล็กในแร่รวมตัวเป็นสารประกอบในรูปของออกไซด์มีสูตรทางเคมีว่า Fe2O3 X (H2O) มีเหล็กประมาณร้อยละ 60-65 พบมากในประเทศสหรัฐอเมริกาฝรั่งเศส

5. แร่ไพไรต์ (pyrite) เหล็กในแร่อยู่ในรูปของซัลไฟด์มีสูตรว่า FeS2 มีสีน้ำตาล มีเหล็กประมาณร้อยละ 60 เนื่องจากเหล็กอยู่ในรูปของซัลไฟด์ จึงไม่นิยมนำไปถลุง เพราะกำมะถันที่อยู่ในแร่ทำให้เหล็กที่ถลุงได้มีกำมะถันปนกลายเป็นเหล็กที่เปราะ ส่วนชื่อเรียกแร่แต่ละชนิดไม่แน่ใจว่าเรียกกันตามผู้ค้นพอหรือเปล่า อันนี้ไม่ทราบจริงๆ ใครทราบรบกวนช่วยบอกกล่าวกันให้ทราบหน่อยจะขอบคุณมากเลยครับ

และในประเทศไทยเท่าที่สำรวจ พบแร่เหล็กอยู่หลายบริเวณ เช่น แหล่งแร่เหล็กเขาทับควาย จังหวัดลพบุรี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย อำเภอเมืองจังหวัดเลย เขาอึมครึม จังหวัดกาญจนบุรี เขา-เหล็ก จังหวัดนครศรีธรรมราช แร่ที่พบส่วนใหญ่เป็นแร่ฮีมาไทต์ และแมกนีไทต์ ปริมาณแร่บางแห่งพอที่จะทำเป็นอุตสาหกรรมถลุงเหล็กหรืออุตสาหกรรมผลิตเหล็กได้ แต่ยังขาดเงินลงทุน เพราะอุตสาหกรรมถลุงเหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง แล้วเคยสงสัยหรือไม่ว่าพวกแร่เหล็กเหล่านี้แท้จริงแล้วมีแหล่งที่มาและเกิดขึ้นได้อย่างไร เชิญชมครับ

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มะขาม มาจากไหน

มะขาม เป็นไม้เขตร้อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาแถบประเทศซูดาน ต่อมามีการนำเข้ามาในประเทศแถบเขตร้อนของเอเชีย และประเทศแถบละตินอเมริกา และในปัจจุบันมีมากในเม็กซิโก




ชื่อมะขามในภาคต่างๆ เรียก มะขามไทย (ภาคกลาง) ขาม (ภาคใต้) ตะลูบ (โคราช) ม่วงโคล้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) อำเปียล เขมร จังหวัดสุรินทร์ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า tamarind หรือ Indian date ซึ่งแปลมาจากภาษาอาหรับ:تمر هندي (tamr hindī)

มะขามเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า "เมืองมะขามหวาน อุทยานน้ำหนาว ศรีเทพเมืองเก่า เขาค้ออนุสรณ์ นครพ่อขุนผาเมือง"

ลักษณะเฉพาะ

มะขามเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่แตกกิ่งก้านสาขามากไม่มีหนาม เปลือกต้นขรุขระและหนา สีน้ำตาลอ่อน ใบ เป็นใบประกอบ ใบเล็กออกตามกิ่งก้านใบเป็นคู่ ใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบและโคนใบมน ประกอบ ด้วยใบย่อย 10–15 คู่ แต่ละใบย่อยมีขนาดเล็ก กว้าง 2–5 มม. ยาว 1–2 ซม. ออกรวมกันเป็นช่อยาว 2–16 ซม. ดอก ออกตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองและมีจุดประสีแดง/ม่วงแดงอยู่กลางดอก ผล เป็นฝักยาว รูปร่างยาวหรือโค้ง ยาว 3-20 ซม. ฝักอ่อนมีเปลือกสีเขียวอมเทา สีน้ำตาลเกรียม เนื้อในติดกับเปลือก เมื่อแก่ฝักเปลี่ยนเป็นเปลือกแข็งกรอบหักง่าย สีน้ำตาล เนื้อในกลายเป็นสีน้ำตาลหุ้มเมล็ด เนื้อมีรสเปรี้ยว และ/หรือหวาน ซึ่งฝักหนึ่ง ๆ จะมี/หุ้มเมล็ด 3–12 เมล็ด เมล็ดแก่จะแบนเป็นมัน และมีสีน้ำตาล

ใบของมะขามเป็นใบประกอบแบบขนนก (pinnately compound leaves) ใบย่อยแต่ละใบแยกออกจากก้าน 2 ข้างของแกนกลาง คล้ายขนนก ถ้าปลายสุดของใบจะเป็นใบย่อยเพียงใบเดียวเรียก แบบขนนกคี่ (odd pinnate) เช่น กุหลาบ อัญชัน ก้ามปู ถ้าสุดปลายใบมี 2 ใบ เรียกแบบขนนกคู่ (even pinnate) เช่น มะขาม

การปลูกมะขาม ทำได้โดยเตรียมดินโดยขุดหลุมกว้าง ยาวและลึกด้านละ 60 ซม. ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักคลุกเคล้าดินรองก้นหลุมเอากิ่งพันธุ์ลงปลูก รดน้ำให้ชุ่ม มะขามเมื่อลงดินแล้วจะโตเร็ว ควรใช้ไม้หลักพยุงไว้ให้แน่น และการบำรุงรักษาหลังเริ่มปลูก ควรเอาใจใส่ดายหญ้ารอบต้น และรดน้ำทุกวัน
[แก้] ประโยชน์

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อในฝักแก่ (มะขามเปียก) เปลือกต้น (ทั้งสดหรือแห้ง) เนื้อในเมล็ด
สรรพคุณและวิธีใช้
แก้อาการท้องผูก ใช้เนื้อฝักแก่หรือมะขามเปียก 10–20 ฝัก (หนักประมาณ 70–150 กรัม) จิ้มกับเกลือรับประทาน หรือใส่เกลือเติมน้ำคั้นดื่ม
แก้อาการท้องเดิน ใช้เปลือกต้น ทั้งสดหรือแห้งประมาณ 1–2 กำมือ (15–30 กรัม) ต้มกับน้ำปูนใสหรือน้ำรับประทาน
ถ่ายพยาธิลำไส้ ใช้เมล็ดคั่วกะเทาะเปลือกเอาออกเนื้อในเมล็ดแช่น้ำเกลือจนนุ่ม รับประทานครั้งละ 20–30 เมล็ด เหมาะสำหรับถ่ายพยาธิไส้เดือน
แก้ไอขับเสมหะ ใช้เนื้อในฝักแก่หรือมะขามเปียกจิ้มเกลือรับประทาน
การขยายพันธุ์ : นิยมขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง ติดตาหรือต่อกิ่ง เพราะได้ผลเร็วและไม่ทำให้กลายพันธุ์
สภาพดินฟ้าอากาศ : ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิดแม้แต่ดินเลว เช่นดินลูกรัง เจริญได้ดีในดินร่วนปนดินเหนียว ทนแล้งได้ดี ฤดูปลูกที่เหมาะสม คือต้นฤดูฝน

ควรหาเศษหญ้าฟางคลุมโคนจนกว่าต้นจะแข็งแรง ควรฉีดยาป้องกันโรคราแป้งและแมลงพวกหนอนเจาะฝัก ด้วงเจาะเมล็ด ในระยะที่เป็นดอกอยู่

คุณค่าทางโภชนาการ : ยอดอ่อนและฝักอ่อนมีวิตามิน เอ มาก มะขามเปียกรสเปรี้ยว ทำให้ชุ่มคอ ลดความร้อนของร่างกายได้ดี เนื้อในฝักมะขามที่แก่จัด เรียกว่า "มะขามเปียก" ประกอบด้วยกรดอินทรีย์หลายตัว เช่น กรดทาร์ททาร์ริค กรดซิตริค เป็นต้น ทำให้ออกฤทธิ์ ระบายและลดความร้อนของร่างกายลงได้ แพทย์ไทยเชื่อว่า รสเปรี้ยวนี้จะกัดเสมหะให้ละลายได้ด้วย
มะขามเปียกอุดมด้วยกรดอินทรีย์ อาทิ กรดซิตริค (Citric Acid) กรดทาร์ทาริค(Tartaric Acid) หรือกรดมาลิค(Malic Acid) เป็นต้น มีคุณสมบัติชำระล้างความสกปรกรูขุมขน คราบไขมันบนผิวหนังได้ดีมาก

ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ถือว่ามะขามเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่ควรปลูกไว้ทางทิศตะวันตก (ประจิม) ของบ้าน เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี ผีร้ายมิให้มากล้ำกลาย อีกทั้งต้นมะขามยังเป็นต้นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนาม ถือกันเป็นเคล็ดว่าจะทำให้มีแต่คนเกรงขาม คติความเชื่อ

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ชีวิต มาจากไหน

พลังงานที่สร้างสิ่งมีชีวิตบนโลกนั้นมาจากใหน? มาจากแสงสว่าง และความร้อนจากแสงแดด (สวรรค์) หรือมาจากความร้อนใต้พี้นพิภพ (นรก) เมื่อก่อนนี้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ คิดว่าสิ่งมีชีวิตควรจะมาจากสวรรค์



แต่จากข้อมูลใหม่ๆ พบว่าไม่แน่ซะแล้ว.... เนื่องจากมีการพบสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก ใต้มหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งไม่มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์หลุดรอดลงไปได้ สิ่งมีชีวิตตัวแรกบนโลก อาจจะเกิดขึ้นใต้มหาสมุทร ในบริเวณที่เรียกว่า Deep-sea hydrothermal vents

Deep-sea hydrothermal vents เป็นรอยแยกของเปลือกโลก ซึ่งอยู่ใต้มหาสมุทรลึก มีความสำคัญทางธรณีวิทยา เกี่ยวข้องกับการเกิดและเลื่อนตัวของชายฝั่งทะเล ตามแนวDeep-sea hydrothermal vents นั้นจะมีหินละลาย (magma) จากใต้พื้นโลกดันขึ้นมาเกิดเป็นแผ่นดินอยู่เรื่อยๆ หินละลายเหล่านี้มีอุณหภูมีสูงมาก น้ำทะเลที่อยู่บริเวณนั้นอาจมีอุณหภูมิสูงได้ถึง 404 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ในขณะที่น้ำทะเลรอบๆ มีอุณหภูมิเหนือจุดเยือกแข็งเล็กน้อย เมื่อน้ำที่มีอุณหภูมิต่างกันมาผสมกันสารประกอบพวกกัมมะถัน ก็จะทำให้เกิดควันดำพุ่งขึ้นมา เราเรียกว่า "cook smoker"

เป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก ที่ค้นพบสิ่งมีชีวิตจำนวนมากในสถานที่เช่นนี้ คาดกันว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาศัยพลังงานเคมี และ ความร้อนที่พ่นออกมา

การค้นพบนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการพบสิ่งมีชีวิตในที่ๆ ไม่มีพลังงานจากแสงอาทิตย์เลย และเป็นไปได้ว่าสิ่งมีชีวิตแรกของโลก อาจเกิดจากสภาวะเช่นนี้

และจากหลักฐานทางชีวะวิทยาพบว่าสิ่งมีชีวิตที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เป็นพวกที่สามารถปรับตัวเข้ากับความร้อนได้ดี ทำให้ทฤษฎีที่ว่าสิ่งมีชีวิตเกิดจาก Deep-sea hydrothermal vents มีความเป็นไปได้สูงมาก และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในขณะนี้

การค้นพบนี้ทำให้เพิ่มความเป็นได้ว่าอาจจะมีชีวิตในดาวดวงอื่นนอกจากโลก
เพราะสภาพของ Deep-sea hydrothermal vents นั้นพบได้ในดาวทั่วๆไป

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

นมแม่ มาจากไหน

หลายท่านอาจจะรู้สึกว่าทำไมต้องบอกกล่าวเรื่องนมแม่บ่อย ๆ นั่นเป็นเพราะนมแม่เป็นอาหารมหัศจรรย์สำหรับลูกน้อยจริง ในเมื่อนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก และนมแม่ก็กลั่นมาจากเลือดในร่างกายแม่ ดังนั้น อาหารที่แม่รับประทานเข้าไปย่อมแปรเปลี่ยนเป็นน้ำนม เราจึงต้องให้ความสำคัญกับอาหารสำหรับคุณแม่กันอย่างเต็มที่



ก่อนอื่นเรามารู้จักกระบวนสร้างน้ำนมกันก่อนค่ะ

เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ได้ 8 สัปดาห์ เต้านมจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง คือ ที่ลานหัวนมจะใหญ่และสีเข้มขึ้น หัวนมจะใหญ่และสีเข้มขึ้น หัวนมอาจจะตั้งขึ้น เต้านมแข็งและตึง จากนั้นจะค่อย ๆ ขยายขนาดออก ซึ่งเต้านมใหญ่หรือเล็กนั้นขึ้นอยู่กับไขมันในเต้านม ฉะนั้นจึงไม่เกี่ยวกับการมีน้ำนมว่าจะมีปริมาณมากหรือน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนต่อมน้ำนมภายในเต้านมมากกว่า
เมื่อตั้งครรภ์ในช่วง 2 – 3 เดือนสุดท้ายก่อนครบกำหนดการคลอด ฮอร์โมนโปรแลคตินจะมีระดับสูงขึ้น ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้เป็นตัวการสำคัญในการผลิตน้ำนม แต่ไม่เกี่ยวกับการไหลของน้ำนม ซึ่งน้ำนมจะไหลออกมาได้ดี ต้องมีขึ้นร่วมกับการดูดของลูกน้อย ซึ่งเราจะเรียกว่า Reflex 5 อย่าง
Reflex 3 อย่างจากลูก

1. ลูกอ้าปากหาหัวนม (searching)

2. ลูกดูด (Sucking)

3. ลูกกลืนน้ำนม (swallowing)
Reflex 2 อย่างจากแม่

4. prolactin reflex (เป็น reflex จากร่างกาย) ยิ่งลูกดูดมาก ร่างกายก็จะหลั่งโปรแลคตินมาก ทำให้มีการผลิตน้ำนมมากขึ้น

5. oxytocin reflex (เป็น reflex จากจิตใจแม่) ถ้าแม่มีอารมณ์ดี ไม่เครียด จะยิ่งทำให้การไหลของน้ำนมเป็นไปด้วยดี
เมื่อลูกดูดนมจากเต้าแม่จะเกิดผลดังนี้

1. ทำให้ร่างกายหลั่งโปรแลคตินเพิ่มขึ้น

2. มีการหลั่งออกซิโทซินจากต่อมพิทูอิทารี ซึ่งมีผลทำให้น้ำนมเคลื่อนที่จากถุงน้ำนมมายังท่อน้ำนมแล้วมาที่ลานหัวนม จากนั้นน้ำนมก็จะไหลเข้าปากลูก และฮอร์โมนนี้ทำให้มดลูกหดตัว ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วอีกทางหนึ่งด้วยค่ะ ดังนั้น ยิ่งให้ลูกดูดนมแม่มากเพียงพอต่อความต้องการของลูกเท่าไหร่ น้ำนมแม่ก็จะถูกผลิตออกมาเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอต่อความต้องการของลูก ทั้งนี้คุณแม่ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงการทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง ไม่มีความเครียด เพื่อส่งเสริมการหลั่งน้ำนมให้ดียิ่งขึ้น

อาหารที่เชื่อว่ามีสรรพคุณในการเพิ่มน้ำนมนั้นเป็นอาหารที่มีรสร้อน เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้ร่างกายอบอุ่น เลือดไหลเวียนดีขึ้น ทำให้น้ำนมมากขึ้นตาม เช่น หัวปลี, ใบกะเพรากุยช่าย, กานพลู, มะละกอสุก, ขิง, ใบแมงลัก พืชผักชนิดต่าง ๆ ที่กล่าวมา สังเกตให้ดี ๆ จะเห็นว่า พืชผักที่คนโบราณบอกให้รับประทานเพื่อเรียกน้ำนมนั้น ส่วนใหญ่มีฤทธิ์ให้ความร้อนแก่ร่างกาย ช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดี ช่วยขับลมในกระเพาะ ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารเป็นไปอย่างปกติ และประกอบไปด้วยแร่ธาตุที่สำคัญอย่างแคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส

แต่คุณแม่ก็ต้องรับประทานอาหารชนิดต่าง ๆ ให้ครบทุกหมวดหมู่ รวมถึงผลไม้ เพื่อให้ระบบการย่อยทำงานให้เป็นปกติ
ส่วนการดื่มน้ำอุ่น ก็เป็นสิ่งที่คุณแม่ให้นมลูกทุกท่านต้องหมั่นดื่มบ่อย ๆ ทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงต้นของการให้นมลูก เป็นการเรียกน้ำนมได้ดีอีกทางหนึ่ง และที่ต้องย้ำอีกครั้งคือ ต้องให้ลูกดูดนมจากอกคุณแม่อย่างสม่ำเสมอ และ

พอเพียงตามที่ลูกต้องการ ถ้าเกิดอาการคัด หัวนมแข็ง ก็ต้องบีบให้น้ำนมไหลออกบ้างก่อนให้ลูกดูด ไม่เช่นนั้นลูกดูดไม่ออก พาลจะไม่ยอมดูดนมแม่ในครั้ง ๆ ต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สุขและทุกข์ในงาน มาจากไหน

ดิฉันสนใจเรื่องการทำงานอย่างมีความสุข เพราะเห็นว่าความสุขและความรู้สึกดีๆ นั้น ทำให้คนมีกำลังใจ มีแรงใจ ซึ่งจะส่งผลให้มีกำลังกายมีแรงกายด้วย เมื่อแรงใจแรงกายดี เราจะสามารถใช้กายและใจนี้สร้างสรรค์สิ่งดีงามที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว องค์กร ประเทศชาติ และสังคมโลกได้อย่างเต็มที่ได้ เราใช้เวลาในที่ทำงานเกือบทั้งวัน ถ้าเราทำงานแล้วมีความสุข ความสุขนั้นมีแนวโน้มว่าจะติดตัวเราไปถึงคนที่บ้านและคนนอกที่ทำงานด้วย



ตอนเด็กๆ บางครั้งเราเคยคิดว่าคนทำงานเพราะเงินอย่างเดียว แต่เมื่อโตขึ้นและได้ทำงานจริงๆ สิ่งต่างๆ และประสบการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต ทำให้เราได้รับความรู้สึกใหม่ๆ ที่ทำให้ความคิดสมัยเด็กๆ เริ่มเปลี่ยนไป คนที่ทำงานมานานแล้วมักจะบอกคนรุ่นหลังว่า เขาทำงานเพราะเขามีความสุขที่ได้ทำ คนที่ยังไม่ได้ทำงานหรือเด็กไม่ค่อยเข้าใจเท่าใดนัก เพราะในความเห็นของเด็กนั้น การเล่นไปวันๆ โดยไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่นเป็นเรื่องที่สุขมาก แต่เมื่อมาดูคนทำงานแล้วดูเหมือนต้องทำโน่นทำนี่ตลอดวัน แทบไม่ได้มีโอกาสเล่นเท่าใดนัก แล้วจะมีความสุขได้อย่างไรกัน

อะไรที่ทำให้คนมีสุขหรือทุกข์ในการทำงาน

ในห้องสัมมนาด้านการคิดสร้างสรรค์ทางบวกของบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าแห่งหนึ่ง ดิฉันขอให้ผู้เข้าสัมมนาเขียนว่าอะไรที่ทำให้เขามีความสุขในการทำงาน และอะไรที่ทำให้เขามีความทุกข์ในการทำงาน โดยให้เขาเขียนเป็นข้อๆ ลงในกระดาษเปล่า

พออ่านมาถึงตรงนี้อาจมีบางท่านเห็นว่าคำตอบมีชัดเจนอยู่แล้ว จะมาถามอีกทำไมให้เสียเวลา เพราะคนจะสุขในงานก็เพราะได้เงินเยอะ และทุกข์ในงานเพราะได้เงินน้อย แต่คนทำงานที่เขียนเล่าให้ฟังนั้นเขาบอกอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอ่านแล้วเราจะเข้าใจเลยว่า บางอย่างทำให้สุขได้มากกว่าได้เงินเยอะ และบางอย่างทำให้ทุกข์หนักว่าได้เงินน้อยเสียอีก

จากการสำรวจพบว่าคนทำงานรู้สึกมีความสุขจากปัจจัยหลักๆ ดังนี้

1. สุขจากการที่ตนเองทำงานได้สำเร็จราบรื่น เช่น ทำงานได้สำเร็จลุล่วง ทำงานที่ยากและท้าทายได้สำเร็จด้วยดี วางแผนแล้วได้ทำตามแผน แบ่งงานได้เหมาะสมกับงานที่รับ นำเสนองานเสร็จ เพื่อนร่วมงานช่วยกันทำงานเสร็จ ได้รับความร่วมมือจากคนรอบข้าง ทำงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ งานเสร็จตามเป้าหมายและเวลา ส่งมอบงานให้ลูกค้าสำเร็จสามารถปิดโครงการได้

2. สุขจากการคิดแก้ปัญหาได้ เช่น สามารถแก้ปัญหาได้ เวลามีปัญหาแล้วแก้สถานการณ์ตรงนั้นได้ เวลาลูกค้าเจอปัญหา หรือต้องการคำแนะนำ สามารถช่วยลูกค้าให้ผ่านเรื่องดังกล่าวได้ ให้คำปรึกษาแก่เพื่อนร่วมงานได้

3. สุขจากความภูมิใจที่ได้สร้างประโยชน์ให้คนอื่น เช่น ได้สร้างสรรค์งานใหม่ สร้างประโยชน์ที่แท้จริงโดยใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ เห็นคนได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เราทำในระยะยาว คนรอบข้างมีความรู้เพิ่มขึ้นโดยเรา ตอบคำถามลูกค้าได้ ได้ช่วยเหลือลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน เห็นลูกค้าและทีมงานได้ประโยชน์จากงานที่เราทำ เห็นลูกค้าสนุกและมีความสุขในงานของเขา เห็นทีมงานมีความสนุกกับงานที่กำลังทำ ช่วยเหลือครอบครัวและคนอื่นได้

4. สุขจากการที่ได้พัฒนาตนเอง เช่น มีโอกาสได้พัฒนาตนเอง ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วทำให้ ได้เจออะไรแปลกๆ ใหม่ๆ แล้วท้าทายดี ได้เจอเรื่องใหม่ คนใหม่ มีความรู้ความสามารถที่ดีเพียงพอต่อการทำงาน

5. สุขจากการมีสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เช่น สามารถเข้ากับลูกค้าได้เป็นอย่างดี เพื่อนร่วมงานน่ารักสนุกสนาน ทำงานเป็นทีม ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข ได้ความเป็นมิตรจากทุกคน ได้กำลังใจจากคนรอบข้าง ได้รับคำชมเชยและขอบคุณจากคนรอบข้าง ได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ในปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่กั๊ก เพื่อนมาช่วยแก้ปัญหาให้กับเรา ได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ได้เฮฮาสนุกสนาน เพื่อนร่วมงานเข้าใจซึ่งกันและกัน ลูกค้ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเรา หัวหน้ามีความเข้าใจลูกน้อง ได้รับการยอมรับจากลูกค้า ได้รับความชื่นชมจากลูกค้า มีลูกค้าเข้ามาต่อเนื่อง สามารถบาลานซ์ชีวิตและงานได้ มีเวลาสำหรับตัวเอง บ้าน ครอบครัว และงานอย่างสมดุล สิ่งแวดล้อมเหมาะแก่การทำงาน

ขณะที่ทุกข์ในที่ทำงานมาจากปัจจัยหลักๆ ดังนี้

1. ทุกข์จากการคิดแก้ปัญหาไม่ได้ เช่น เกิดปัญหาในที่ทำงาน เช่น คิดไม่ออก ทำไม่ทัน รู้สึกว่าทำไม่ได้ตามที่ได้รับมอบหมาย ทุกข์ตอนที่ลูกค้าต้องการอะไร แล้วหาวิธีไม่ได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ใช้เวลานาน เวลาลูกค้ามีปัญหาแล้วหาทางออกได้ช้ากว่าที่เราคาดหวัง แก้ปัญหาให้คนในทีมงานไม่ได้ บางครั้งทำงานแล้วมีปัญหากันในทีมแล้วไม่สามารถเคลียร์กันได้ ทำงานไม่ค่อยทันไม่มีใครสนับสนุนช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา พอแก้ปัญหาไม่ได้แล้วไม่รู้จะปรึกษาใคร งานเสร็จแล้วแต่ต้องกลับมาแก้ไข

2. ทุกข์จากความไม่ราบรื่นในการทำงาน เช่น ทำได้ตามที่ต้องการแล้วอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยน ทำเท่าไรก็ไม่เคยพอใจกับงานที่เขาต้องการ เจอคนไม่มีเหตุผล เพื่อนร่วมงานและหัวหน้าไม่เข้าใจเรา และเราก็ไม่สามารถอธิบายให้ได้ เพราะเขาไม่รับฟังเรา โดนลูกค้าต่อว่า ลูกค้าไม่รับฟังในสิ่งที่พูด ถูกเร่งงานทุกอย่างให้ได้เร็วทันใจ ทั้งๆ ที่มีงานล้นมือแล้ว ไม่ชัดเจนว่าลูกค้าจะเอาอะไร มีตั้งหลายวิธีแต่ลูกค้าไม่พอใจ

3. ทุกข์จากความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคนรอบข้าง เช่น มีปัญหาภายในทีม คุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่คุยกัน เพื่อนร่วมงานคิดไม่ดีต่อกัน ไม่สามารถไว้วางใจเพื่อนร่วมงาน คนรอบข้างทำงานร่วมกับเราแล้วไม่ได้ดังใจ คนใกล้ชิดเราไม่เข้าใจการทำงานของเรา

4. ทุกข์จากงานและอื่นๆ เช่น การทำงานไปวันๆ งานไม่ท้าทาย งานผิดพลาด สุขภาพไม่แข็งแรง อึดอัด สุขภาพเสื่อมโทรม สภาพแวดล้อมไม่ดี อุณหภูมิในห้องไม่เหมาะสม

คนทำงานต่างอาชีพกันมีรายละเอียดในงานต่างกัน แต่ในประเด็นของความสุขและความทุกข์ในงานนั้นมีแก่นหลักๆ อยู่ไม่ต่างกันเท่าใดนัก

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คนไทย มาจากไหน

จากที่ได้ศึกษาจากหนังสือทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของคนไทยแล้วนั้น สามารถสรุปเป็นแนวคิดกว้าง ๆได้ 5 กลุ่มดังนี้คือ




๑. เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่ในบริเวณมณฑลเสฉวน ถูกจีนรุกราน แล้วอพยพลงสู่ยูนานและแหลมอินโดจีน นักวิชาการที่เป็นผู้คิดทฤษฎีนี้คือ เตเรียน เดอร์ ลาคูเปอรี

๒. เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่ในบริเวณเทือกเขาอัลไต สรุปได้ว่าไทยเป็นเชื้อสายมองโกล เรียกว่าลาวหรือต้ามุง เนื่องจากถูกขนเผ่าอื่นรุกรานจึงอพยพมาจากตอนกลางมาสู่ตอนใต้ของจีน และเข้าสู่อินโดจีน นักวิชาการที่เป็นผู้คิดทฤษฎีนี้คือ วิลเลี่ยม คลิฟตันด๊อด

๓. เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยกระจัดกระจายทั่วไปในบริเวณตอนใต้ของจีน และทางตอนเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนบริเวณ รัฐอัสสัมของอินเดีย นักวิชาการที่เป็นผู้คิดทฤษฎีนี้คือ วูลแฟรม อีเบอร์ฮาด , เฟรเดอริก โมต , วิลเลียม เก๊ดนีย์

๔. เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่ในบริเวณเนื้อที่ประเทศไทยปัจจุบัน เนื่องจากมีการตรวจวิเคราะห์โครงกระดูกในยุคหินใหม่ ที่ขุดค้นพบในประเทศไทย นักวิชาการที่เป็นผู้คิดทฤษฎีนี้คือ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร , ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี

๕. เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอาจอยู่ในบริเวณคาบสมุทรมลายู หรือบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย และค่อย ๆ แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนใต้ของจีน เนื่องจากมีการเปรียบเทียบหมู่เลือด และความถี่ของยีน นักวิชาการที่เป็นผู้คิดทฤษฎีนี้คือ นายแพทย์สมศักดิ์ พันธุ์สมบูรณ์ , นายแพทย์ประเวศ วะสี

จากทฤษฎีต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ สามารถสรุปรวมกันได้คือ คนไทยมีต้นกำเนิดมาจากพื้นที่ที่เป็นทวีปเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบัน คือจากประเทศจีน ประเทศไทย และประเทศแถบอินโดนีเซีย

แนวคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดคนไทย

การศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของผู้คนในดินแดนต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เริ่มขึ้นโดยชาวตะวันตกซึ่งใช้วิธีการค้นคว้า คือ เดินทางไปสำรวจด้วย ตนเอง สอบสวนค้นคว้าทางภาษา การแต่งกาย ความเป็นอยู่ สภาพบ้านเมือง ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและอื่น ๆ แล้วนำข้อมูลที่ได้จากประจักษ์พยานไปประมวลเป็นงานเขียนหรือรายงานการสำรวจ และอีกวิธีคือ สืบค้นนำข้อมูลที่ได้จากประจักษ์พยานไปประมวลเป็นงานค้นคว้าของชาวต่างประเทศที่เรียบเรียงไว้

ดังนั้นวิธีการดังกล่าวรวมทั้งการศึกษาค้นคว้าของคนไทยได้ก่อให้เกิดความหลากหลายในทัศนะเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของคนไทย ดังนี้

๑. กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นกำเนิดคนไทยอยู่ในบริเวณมณฑลเสฉวน ประเทศจีน

เตเรียน เดอ ลาคูเปอรี (Terrien de la couperie) ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ ประจำมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์ของอินโดจีน เป็นเจ้าของความคิดนี้ ผลงานของท่านชื่อ The Cradle of the Shan Race ตีพิมพ์ พ.ศ.2428 อาศัยหลักฐานจีนโดยพิจารณาความคล้ายคลึงกันทางภาษาของผู้คนในจีนและเอเชียตะ วันออกเฉียงใต้ แล้วสรุปว่า คนเชื้อชาติไทยตั้งถิ่นฐานในดินแดนจีนก่อนจีน คือเมื่อ 2208 ปีก่อนคริสตกาล ดังปรากฏในรายงานการสำรวจภูมิประเทศจีน ถิ่นที่อยู่ของคนไทยที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีนนี้อยู่ในเขตมณฑลเสฉวนในปัจุบัน

งานของลาคูเปอรี ได้รับการสืบทอดต่อมาในงานเขียนของนักวิชาการไทย เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประภาศิริ เสฐียรโกเศศ พระยาอนุมานราชธน หลวงวิจิตรวาทการ และศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์

๒. กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นกำเนิดคนไทยอยู่แถบเทือกเขาอัลไต ทางตอนเหนือของประเทศจีน

เจ้าของความคิด คือ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ชื่อ วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ (William Clifton Dodd) ได้เดินทางไปสำรวจความเป็นอยู่ของชาติต่าง ๆ ในดินแดนใกล้เคียงพร้อมทั้งเผยแพร่ศาสนาด้วย โดยเริ่มจากเชียงราย เชียงตุง สิบสองปันนา ยูนนาน จนถึง ฝั่งทะเลกวางตุ้ง ผลจากการสำรวจปรากฏในงานเขียนเรื่อง The Thai Race : The Elder Brother of the Chinese ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ.2452 งานเขียนนี้สรุปว่าไทยสืบเชื้อสายจากมองโกลและเป็นชาติเก่าแก่กว่าจีนและฮิบรู

งานเขียนของหมอดอดด์ ได้รับความสนใจทั้ง ชาวไทยและต่างประเทศ นักวิชาการไทยคนสำคัญที่สืบทอดความคิดของหมอดอดด์ คือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ได้เขียนงานเขียนชื่อ “หลักไทย” เป็นหนังสือแต่งทางประวัติศาสตร์ ได้รับพระราชทานรางวัลของพระบาทสมเด็กพระปกเกล้าฯ กับประกาศนียบัตรวรรณคดีของราชบัณฑิตยสภา ใน พ.ศ.2471 ในหนังสือ หลักไทย สรุปว่าแหล่งกำเนิดของคนไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต (แหล่งกำเนิดของมองโกลด้วย) หลักสูตรไทยได้ใช้เป็นตำราเรียนประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นเวลานาน แต่ปัจจุบัน แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับน้อยมาก

๓.กลุ่มที่เชื่อว่าไทยมีถิ่นกำเนิดกระจัด กระจายทั่วไปในบริเวณตอนใต้ของจีนและทางเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ ตลอดจนแคว้นอัสสัมของอินเดีย

นักสำรวจชาวอังกฤษ ชื่อ โคลกูฮุน (Archibal R. Colguhon) เป็นผู้ริเริ่มความเชื่อนี้ เขาได้เดินทางจากกวางตุ้งตลอดถึงมัณฑเลย์ในพม่าและได้เขียนหนังสือชื่อ Chrysi เล่าเรื่องการเดินทางสำรวจดินแดนดังกล่าว และเขียนรายงานไว้ว่าพบคนไทยเชื้อชาติไทยในแถบนี้ งานเขียนนี้ตีพิมพ์ในอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2428 ผู้เขียนได้รับรางวัลเหรียญทองจากสมาคมภูมิศาสตร์ของอังกฤษ ต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน ทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายออกไป

นอกจากนี้มีงานค้นคว้าประเภทอาศัยการตีความหลักฐานจีนอีก เช่น งานของ E.H. Parker ปาร์คเกอร์ กงสุลอังกฤษประจำเกาะไหหลำ เขียนบทความเรื่องน่านเจ้า พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2437 โดยอาศัยตำนานจีน บทความนี้พูดถึงอาณาจักรน่านเจ้าเป็นอาณาจักรของคนไทยเฉพาะราชวงศ์สินุโลและ คนไทยเหล่านี้ถูกคนจีนกดดันถึงอพยพลงมาทางใต้ งานของเขียนปาร์คเกอร์ได้รับการสนับสนุนจากทั้งนักวิชาการตะวันตกและจีน (ศาสตราจารย์ติง ศาสตราจารย์ โชนิน ศาสตราจารย์ชุนแชง) และญี่ปุ่น (โยชิโร ชิราโทริ)

งานค้นคว้าที่เดิ่นอีกคืองานของ วิลเลียม เคร์ดเนอร์ (Willian Credner) ซึ่งค้นคว้าเกี่ยวกับยูนนาน โดยสำรวจภูมิประเทศและเผ่าพันธุ์ที่ตกค้างในยูนนาน สรุปว่าถิ่นเดิมของชนเผ่าไทยควรอาศัยในที่ต่ำใกล้ทะเล เช่น มณฑลกวางสี กวางตุ้ง ส่วนแถบอัลไตคนไทยไม่น่าจะอยู่เพราะคนไทยชอบปลูกข้าว ชอบดินแดนแถบร้อนไม่ชอบเนินเขา

นอกจากนี้ วูลแกรม อีเบอร์ฮาด (Wolgram E berhard) ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา และโบราณคดีจีน ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของไทยในงานเขียนชื่อ A History of China (พิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน ต่อมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ) สรุปว่าเผ่าไทยอยู่บริเวณมณฑลกวางตุ้ง ต่อมาอพยพมาอยู่แถบยูนนานและดินแดนในอ่าวตังเกี๋ย (สมัยราชวงศ์ฮั่น) ได้สร้างอาณาจักรเทียนหรือแถน และถึงสมัยราชวงศ์ถัง เผ่าไทยได้สถาปนาอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นที่ยูนนาน

งานเขียนของบุคคลเหล่านี้ได้ให้แนวคิดแก่นักวิชาการไทยและต่างประเทศในระยะต่อมา เช่น ยอร์ช เซเดส์ ชาวฝรั่งเศส ได้สรุปว่าชนชาติไทยอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีน แถบตังเกี๋ย ลาว สยาม ถึงพม่า และอัสสัม

ส่วนนักวิชาการไทยที่สนใจศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของคนไทยทั้งจากเอกสารไทยและต่างประเทศคือพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) งานเขียนของท่าน คือ พงศารโยนก ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ.2441-2442 งานชิ้นนี้สรุปว่าคนไทยมาจากตอนใต้ของจีนและ นักวิชาการไทยอีกท่านหนึ่งคือ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ใช้วิธีการทางนิรุกติศาสตร์ วิเคราะห์ตำนาน พงศาวดารท้องถิ่นทางเหนือของไทยและตรวจสอบกับจารึกของประเทศข้างเคียง เขียนหนังสือ ชื่อ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และจาม และลักษณะสังคมของชื่อชนชาติ” พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2519 จิตรสรุปว่าที่อยู่ของคนเผ่าไทย อาศัยอยู่กระจัดกระจายในบริเวณทางตอนใต้ของจีนและบริเวณภาคเหนือของไทย ลาว เขมร พม่า และรัฐอัสสัมในอินเดีย และให้ความเห็นเกี่ยวกับน่านเจ้าว่า น่านเจ้าเป็นรัฐทางใต้สุด เดิมจีนเรียกอาณาจักรไต - หลอหลอ (น่านเจ้า แปลว่า เจ้าทางทิศใต้)

จะเห็นได้ว่าในบรรดานักวิชาการที่เชื่อว่าอดีตของเผ่าไทยอยู่กระจัดกระจายใน บริเวณตอนใต้ของจีนและบริเวณทางเหนือของไทย ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และรัฐอัสสัม และอินเดีย ต่างก็มีทัศนะที่ต่างกันในรายละเอียด โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับอาณาจักรน่านเจ้าและนักวิชาการกลุ่มนี้เริ่มศึกษาค้น คว้าเรื่องราวของคนไทยโดยอาศัยหลักฐานหลายด้าน ทั้งด้านนิรุกติศาสตร์ มานุษยวิทยา หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

๔. กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นเดิมของไทยอยู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน

พอล เบเนดิคท์ (Paul Benedict) นักภาษาศาสตร์และมนุษยวิทยาชาวอเมริกัน ค้นคว้าเรื่องเผ่าไทย โดยอาศัยหลักฐานทางภาษาศาสตร์และสรุปว่า ถิ่นเดิมของไทยน่าจะอยู่ในดินแดนประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อประมาณ 4000-3500 ปีมาแล้ว พวกตระกูลมอญ เขมร อพยพมาจากอินเดียเข้าสู่แหลมอินโดจีนได้ผลักดันคนไทยให้กระจัดกระจายไปหลายทางขึ้นไปถึงทางใต้ของจีนปัจจุบัน ต่อมาถูกจีนผลักดันจนอพยพลงใต้ไปอยู่ในเขตอัสสัม ฉาน ลาว ไทย และตังเกี๋ย จึงมีกลุ่มชนที่พูดภาษาไทยกระจัดกระจายไปทั่ว

นักวิชาการไทย นายแพทย์สุด แสงวิเชียร และศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ให้ความเห็นว่าดินแดนไทยปัจจุบันเป็นที่อาศัยของหมู่ชนที่เป็นบรรพบุรุษของไทยปัจจุบัน มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และสรุปว่าบรรพบุรุษไทยอยู่ในดินแดนประเทศไทยมาตลอด เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีได้แสดงถึงความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมรวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะโครงกระดูกที่ขุดพบ

๕. กลุ่มที่เชื่อว่า ถิ่นเดิมของไทยอาจอยู่ทางบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หรืออินโดจีน หรือบริเวณคาบสมุทรมลายู และค่อย ๆ กระจายไปทางตะวันตก และทางใต้ของอินโดจีนและทางใต้ของจีน

กลุ่มนี้ศึกษาประวัติความเป็นมาของชนชาติไทยด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์บนรากฐาน ของวิชาพันธุศาสตร์ คือการศึกษาความถี่ของยีนและหมู่เลือดและการศึกษาเรื่องฮีโมโกลบินอี เช่น นายแพทย์สมศักดิ์ พันธุ์สมบุญ ได้ศึกษาความถี่ของยีนและหมู่เลือด พบว่าหมู่เลือดของคนไทยคล้ายกับชาวชวาทางใต้มากกว่าจีนทางเหนือ จากการศึกษาวิธีนี้สรุปได้ว่า คนไทยมิได้สืบเชื้อสายจากคนจีน

ส่วนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฮีโมโกลบินอีนั้น นายแพทย์ประเวศ วะสี และกลุ่มนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น สรุปว่า ฮีโมโกลบินอี พบมากในผู้คนในแถบเอเชียอาคเนย์ คือ ไทย ลาว พม่า มอญ และอื่นๆ สำหรับประเทศไทยผู้คนทางภาคอีสานมีฮีโมโกลบินอีมากที่สุด (คนจีนเกือบไม่มีเลย)

สรุป ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวงการศึกษามีมากขึ้นและมีการแตกแขนงวิชาออกไปมากมาย เพื่อหาคำตอบเรื่องของมนุษย์และสังคมที่มนุษย์อยู่ ทำให้ความรู้และความเชื่อเดิมของมนุษย์ถูกตรวจสอบอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ความเชื่อในเรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทยซึ่งอยู่ที่มณฑลเสฉวนและทาง ภูเขาอัลไตจึงถูกวิพากษ์ถึงความสมเหตุสมผล และเมื่อมีการประสานกันค้นคว้าจากสหวิชาการจึงได้คำตอบในแนวใหม่ว่าคนเผ่าไท เป็นเผ่าที่อยู่กระจัดกระจายในแนวกว้างในบริเวณตอนใต้ของยูนนาน ทางตอนเหนือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรัฐอัสสัมของอินเดีย พื้นฐานความเชื่อใหม่นี้ อาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้ทราบได้ว่า คนเผ่านี้รู้จักกันในชื่อต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่น เช่น ไทใหญ่ ไทอาหม ผู้ไท ไทดำ ไทขาว ไทลื้อ ไทลาว ไทยวน เป็นต้น การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดียังสอดคล้องกับการค้นคว้าทางด้านนิรุกติศาสตร์และภาษาศาสตร์ที่พบว่า คนในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เรียกชนชาติไทยว่า ชาม ชาน เซม เซียม ซียาม เสียมบ้าง และในภาษาจีนเรียกว่า ส่าน ส้าน (สำหรับคนไทโดยทั่วไป) และเซียม (สำหรับไทสยาม) และความหมายของคำที่เรียกคนไทก็มีความหมายสอดคล้องกับลักษณะชีวิตทางด้านสังคมและการทำมาหากินของคนไทยเช่นคำว่า “ส่าน” ซึ่งเป็นคำภาษาจีนเรียกคนไท แปลว่า “ลุ่มแม่น้ำ”

ความหมายนี้มีลักษณะสอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชนชาติไทที่ก่อตั้งชุมชนขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำและทำอาชีพกสิกรรม รู้จักทำทำนบหยาบ ๆ พร้อมทั้งคันคูระบายน้ำคือ เหมือง ฝาย รู้จักใช้แรงงานสัตว์และใช้เครื่องมือในการทำนา เช่น จอบ คราด ไถ

**ปัจจุบันการศึกษาค้นคว้าเรื่องถิ่นเดิมของชนชาติไทย และคนไทยในประเทศไทยปัจจุบัน คือการหันมาให้ความสนใจทางด้านวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องเชื้อชาติ เพราะไม่มีเชื้อชาติใดในโลกนี้ที่เป็นเชื้อชาติบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่เหนือชน เชื้อชาติอื่น ดินแดนประเทศไทยเป็นทางผ่านที่คนหลายเผ่าพันธุ์ หลายตระกูลเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งรกราก ประเทศไทยเป็นแหล่งสะสมของคนหลายหมู่เหล่าก่อนที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐประชา ชาติที่เรียกว่าประเทศไทย ดังนั้นการเป็นคนไทจึงควรมองที่วัฒนธรรมไทยมากกว่าเรื่องเชื้อชาติ

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

HI5 มาจากไหน

ปี 2004 นักศึกษาปริญญาตรีชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ Ramu Yalamanchi ร่วมกับเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ที่เรียนปริญญาตรี Computer Science อยู่ ก่อตั้ง SponsorNet New Media ธุรกิจตัวแทนโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต




ยามาลานชี่ มองเห็นจุดอ่อนของระบบการโฆษณาผ่านแบนเนอร์แบบเก่าๆ ที่อาจไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย บวกกับการได้เห็นพฤติกรรมการสร้างอัลบั้มรูปแล้วพูดคุยกันต่อท้าย กับการเกิดกลุ่มเพื่อนที่คอยอัพเดตข่าวแต่ละคนในก๊วนกันทางอินเทอร์เน็ต จึงแยกตัวออกมาตั้ง hi5 เพื่อหวังตอบโจทย์ทั้งฝั่งผู้โฆษณาและผู้ใช้ไปในเวลาเดียวกัน

ปัจจุบัน Hi5 เป็นเว็บประเภท Social Networking ที่มีผู้ใช้มากที่สุดใน 23 ประเทศ เช่นในกลุ่มประเทศที่พูดภาษาสเปนอย่างสเปน โปรตุเกส บราซิล และในไทย เนื่องจากชื่อเว็บที่พิมพ์ง่ายจำง่ายและหน้าจอที่ไม่ซับซ้อน

ใน สหรัฐฯ และยุโรปนั้นนั้นต่างออกไป นั่นคือเจ้าตลาดเว็บ Social Networking กลับเป็น facebook.com ที่แจ้งเกิดจากการเป็นหนังสือรวมรุ่นกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ส่วนในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์และไต้หวันนั้นกลับเป็น frienster.com เป็นผู้นำตลาด

ทุกวันนี้ Hi5 มีสมาชิกรวม 65 ล้านรายทั่วโลก และแม้เว็บจะเติบโตและมาแรงเท่าใด แต่ยามาลานชี่ผู้ก่อตั้ง hi5 ก็ยังนั่งเป็น CEO อยู่ และยังไม่ได้ขายกิจการให้ยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Microsoft, หรือ Yahoo ตามกระแสที่เว็บเล็กๆ หลายแห่งถูกกว้านซื้อเข้าไปก่อนนี้แล้ว

ชื่อ “Hi5” มาจากไหน ?

คำ ว่า Hi5 หรือ “Hi Five” หมายถึงอาการที่คนสองคนชูฝ่ามือแบนิ้วทั้ง 5 มาแปะกันแรงๆ เป็นการทักทายประสาเพื่อนสนิทที่ชาวอเมริกันนิยมกันมาก เช่นเดียวกับคำชวนให้มาแปะมือกันก็พูดว่า “Give me five!” เป็นต้น

สำนวน นี้เป็นที่มาของชื่อเว็บ Hi5 และในเว็บนี้ก็เปิดให้เรา “Give 5” ให้กับเพื่อนสนิทหรือคนที่พิเศษได้โดยการกดปุ่มลิงค์ “Give ...ชื่อเจ้าของรูป... Five” และหากเจ้าของรูปคนนั้นไม่เคยได้รับ “Five” มาก่อน เราก็จะได้รับเกียรติให้เป็นคนแรกที่ให้ Five แก่เจ้าของรูปนั้นให้รู้กันไป

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บรรพบุรุษของช้าง มาจากไหน

นักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียพบหลักฐานในตัวช้างว่า ช้างมีบรรพบุรุษเป็นวัวทะเล (SEA COW) หรือนางเงือก



วัวทะเล หรือ ตัวพะยูน หรือ นางเงือก เป็นสัตว์น้ำที่กำลังจะสูญพันธุ์ เพราะมีความเชื่องกับมนุษย์ และเคลื่อนไหวได้เชื่องช้าใน ถิ่นที่อยู่ธรรมชาติคือในน้ำ

การค้นพบใหม่ของคณะนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย ประกอบด้วย แอนน์ เกท (ANN GAETH) โรเจอร์ ชอร์ต (ROGER SHORT) และ มาริลัน เรนฟรี (MARILYN RENFREE) เกิดขึ้นจากการศึกษาอวัยวะ คือ ไตของตัวอ่อนช้างแอฟริกา และพบส่วนประกอบบางอย่างภายในไต ซึ่งมีอยู่เฉพาะในตัวของสัตว์น้ำมีกระดูกสันหลัง แต่ไม่พบมาก่อนใน ตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

เมื่อปี ค.ศ. 1865 นักชีววิทยาเยอรมัน ชื่อ เอิร์นต์ แฮกเคล (ERNST HAECKEL) ได้เสนอทฤษฎีว่า ตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยง ลูกด้วยนม รวมทั้งตัวอ่อนมนุษย์ด้วย มีพัฒนาการตั้งแต่การผสมกันระหว่างไข่กับสเปิร์ม จนกระทั่งเติบโตเป็นทารกเต็มตัวพร้อมจะ คลอดจากท้องผู้เป็นแม่ ที่แสดงลักษณะเฉพาะอันเป็นผลจากวิวัฒนาการอันยาวนาน...กล่าวคือตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมี ลักษณะรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงตามรอยวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เป็นบรรพบุรุษในอดีตมาก่อน ดังนั้นตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงเริ่มร้นจากการมีรูปร่างคล้ายปลา จากนั้นจึงเปลี่ยนรูปร่างมาคล้ายสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก ต่อมาอีกจึงเปลี่ยนรูปร่างเป็นคล้ายสัตว์ เลื้อยคลานและในที่สุด จึงเปลี่ยนรูปร่างเป็นลักษณะสุดท้ายของชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

มาถึงปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์ถือว่า ทฤษฎีของเอิร์นต์ แฮกเคลไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ผิดไปเสียทั้งหมด เพราะพัฒนาการของตัว อ่อนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยทั่วไปก็ผ่านระยะที่มีอวัยวะบ่งบอกถึงบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมว่าเคยใช้ชีวิตในน้ำมาก่อน หลักฐานคือร่องเหงือกที่มีอยู่กับตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคปัจจุบันนั่นเอง

สำหรับช้างกับวัวทะเล วงการชีววิทยาเชื้อกันมานานแล้วว่า มีบรรพบุรุษร่วมกัน ถึงแม้ลักษณะทางกายภาพจะแตกต่างกันอย่าง ชัดเจน ในปัจจุบันหลักฐานที่สนับสนุนมีอยู่มากทีเดียว ทั้งหลักฐานประเภทฟอสซิล และหลักฐานทางด้านพันธุกรรมคือยีนที่สะสมมาก ขึ้นในระยะไม่กี่ปีมานี้

ปัญหาที่วงการชีววิทยายังค้างคากันอยู่มากคือ บรรพบุรุษร่วมของช้างกับวัวทะเลเป็นสัตว์น้ำ ดังเช่น วัวทะเลใช่หรือไม่ ? และ เส้นทางวิวัฒนาการของช้าง จะเป็นแบบที่กลับไปกลับมาระหว่างน้ำกับบนบกใช่หรือไม่? กล่าวคือ ช้างเริ่มต้นชีวิตบรรพบุรุษเป็นสัตว์ น้ำแล้วก็ขึ้นสู่แผ่นดิน (โดยที่บรรพบุรุษเปลี่ยนจากสัตว์จำพวกปลาเป็นสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก) จากนั้นก็หวนกลับคืนสู่น้ำอีก แล้วในที่สุด จึงขึ้นมาใช้ชีวิตเป็นสัตว์บกเต็มตัว ดังเช่นช้างในปัจจุบัน

สิ่งที่คณะวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นค้นพบ สนันสนุนเส้นทางวิวัฒนาการดังกล่าวไปแล้ว เพราะสิ่งที่พบจากการศึกษาไต ของตัวอ่อนช้างแอฟริกาคือ มีส่วนประกอบด้วย เซลล์เนื้อเยื่อเรียก นีโฟรสโทม (NEPHROSTOME) มีลักษณะเป็นท่อเล็ก ๆ รูป กรวย ซึ่งพบอยู่ในสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในน้ำ แต่ไม่พบในตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอาศัยอยู่บนบกมาก่อน แสดง ว่าช้างเคยมีบรรพบุรุษ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในน้ำชนิดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาก่อน ทั้งนี้เพราะว่าร่องเหงือกเป็นหลักฐานแสดงบรรพบุรุษ ของช้าง เคยเป็นปลามาก่อน และเนื้อเยื่อที่เป็นรูปกรวยค้นพบใหม่ ก็เป็นหลักฐานแสดงบรรพบุรุษของช้างเคยเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วย นมที่อาศัยอยู่ในน้ำมาก่อน นับเป็นหลักฐานสนับสนุนความเข้าใจว่าช้างกับวัวทะเล มีบรรพบุรุษร่วมกันอยู่ในน้ำ

ข้อมูลการค้นพบสนับสนุนทฤษฎีว่า ช้างเคยเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังอยู่ในน้ำดังเช่นวัวทะเลมาก่อน อธิบายที่มาของลักษณะ เฉพาะของช้างด้วยว่า การที่ช้างมีจมูกยาว คือ งวงช้าง ก็เพราะบรรพบุรุษของช้างเคยอยู่ในน้ำ และการมีจมูกยาวเป็นงวง ก็เป็น ประโยชน์สำหรับการหายใจขณะอยู่ในน้ำนั่นเอง

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ปลาร้า มาจากไหน

" ปลาร้า" เป็นอาหารที่แพร่หลายในเอเชียอาคเนย์มีกินกันทุกแห่งในดิน แดนที่วัฒนธรรมมอญ-เขมร ได้เคยผ่านเข้าไป เมื่อ 2,000 ปี หรือ 3,000 ปีมาแล้ว


ทำไมคนโบราณจึงเกิดทำปล้าร้ากินกันขึ้นมา ?
ตอบว่า เพราะ ธรรมชาติในหลายประเทศในเอเชียอาคเนย์อำนวย หรือบังคับให้ทำปลาร้า ภูมิภาคนี้ตกอยู่ในเขตมรสุม ในระหว่างต้นฝนก็มีน้ำมาก แต่พอเข้าต้นหน้าแล้ง น้ำก็เริ่มลด ระยะนี้ เป็นเวลาที่ปลาเล็กปลาน้อยขึ้นมากตมแก่งต่างๆ หรือตามแม่น้ำลำคลอง คนก็จับปลาเอามากิน แต่ปลามันมากเกินกว่าที่จะกินหมดได้ทัน จะทิ้งก็เสียดาย จึงเอาใส่เกลือเก็บไว้กินได้ตลอดปี แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังใส่เกลือไม่ทัน ปลาเริ่มจะขึ้นและมีกลิ่น ถึงจะมีกลิ่นก็ยังใส่เกลือเก็บไว้กินจนได้เลยอร่อยเพราะกลิ่นปลา ต่อมาจะเอาปลามาทำปลาร้าจึงปล่อยให้ปลาขึ้นและเริ่มมีกลิ่น แล้วจึงเอามาใส่เกลือทำปลาร้า กลายเป็นวิธีทำปลาร้าที่ถูกต้องไป

- ที่ว่าปลาร้าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมมอญ-เขมรนั้น พิสูจน์ได้ด้วยความจริง เพราะมอญ-เขมรทุกวันนี้ก็ยังกินปลาร้ากันอย่างเอกอุ คือเข้ากับข้าวเกือบทุกอย่าง ใช้กินเป็นประจำเหมือนคนไทยใช้น้ำปลา
ยำแตงกวาเมืองเขมรเขายังใส่ปลาร้า นอกจากนั้นก็ยังใส่แกงใส่ผัดอื่นๆอีกมาก

- ในเมืองไทย แถวๆอำเภอชั้นนอกของสุพรรณบุรีและตามอำเภอของอยุธยาที่ใกล้กับสุพรรณ คนไทยก็ยังใช้ทำกับข้าวแบบนี้ คือเจือปนไปทั่ว เพราะสุพรรณนั้นได้ตกอยู่ใต้อิทธพลวัฒนธรรมของมอญ ที่เรียกว่าทวาราวดีนั้นมา
แกงบอน,แกงบวน,แกงขี้เหล็ก เป็น กับข้าวมอญ เพราะเข้ากับปลาร้าทั้งนั้น ดินแดนอื่นๆ ที่เคยอยู่ใต้วัฒนธรรมมอญ-เขมร นั้นได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ลาว เวียตนามนั้นมีปลาร้า ถึงจะผสมสับประรดลงไปแบบเค็ม หมากนัสก็ยังเป็นปลาร้า ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ลาวเรียกปลาร้าว่า"ปลาแดก" ทำไม ?
ตอบว่า " แดก" นั้น เป็นกิริยาอย่างหนึ่งในภาษาไทยแปลว่า อัดหรือยัดอะไรเข้าไปในภาชนะ เช่น ไห จนแน่นที่สุดเท่าที่จะอัดเข้าไปได้ คนที่ใช้กิริยาอย่างนี้ในการกินอาหาร จึงเรียกในภาษไทยว่า แดก อีกเช่นเดียวกัน พม่านั้นก็ยังมีมอญอยู่ จึงมีปลาร้ากิน ส่วนมาเลเซียนั้นวัฒนธรรมมอญ-เขมร เฉียดๆไป แต่ก็มีอะไรคล้ายๆปลาร้ากินเหมือนกัน
ปลาร้า นั้นมีกลิ่น เพราะทำด้วยปลาที่เริ่มเน่า ปลาร้าจึงมีชื่อว่า เหม็นปลาร้าพันห่อด้วย ใบคาคาก็เหม็นคาวปลา คละคลุ้ง นอกจากนั้น หากอะไรที่กลิ่นไม่ดี เราก็พูดกันว่า "มีกลิ่นทะแม่งๆ" " ทะแม่ง" เป็นภาษามอญ แปลว่า ปลาร้า
ทาง ด้านโบราณคดี ปลาร้าจึงเป็นสิ่งกำหนดขอบเขตของวัฒนธรรมมอญ-เขมร ปลาร้าอยู่ที่ไหน วัฒนธรรมมอญ-เขมร เคยอยู่ที่นั่น และวัฒนธรรมมอญ-เขม่ร นั้น ยังมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงเหนือชีวิตของคนจำนวนมากในเอเซียอาคเนย์
การ กินหมากที่เคยแพร่หลายไปทั่ว ก็เนื่องอยู่ในวัฒนธรรมนี้ มีขนบธรรมเนียมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการกินหมากอยู่มาก ภาษาเวียดนาม ปัจุบัน ก็เป็นภาษาที่อยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมรและอื่นๆอีกมาก
*** อย่าไปดูถูกปลาร้า ปลาร้ามีประโยชน์มากในทางโภชนาการ เพราะมีโปรตีนสูง เป็นประโยชน์แก่ผู้ยากไร้ หาแหล่งโปรตีนจากอื่น เช่น ทีโบนสเต็คไม่ได้ นอกจากนั้นก็ยังมีวิตามิน K ซึ่งได้จากปลาเน่าหรือเริ่มจะเน่า

ปลาร้า ถือเป็นภูมิปัญญาอาหารที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุของคนอีสาน(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย) ทั้งรูปลักษณ์ รสชาติและก

ลิ่น ก่อให้เกิดอารมณ์ร่วมของความเป็นชาวอีสาน และขยายเป็นวัฒนธรรมร่วมกับชาวลาวใน สปป.ลาว ชาวเขมรในกัมพูชา (ซึ่งเรียกปลาเฮาะ) และชาวเวียตในเวียตนาม(ซึ่งเรียกว่าหม่ำ) วัฒนธรรมปลาร้าเป็นภาพสะท้อนอย่างชัดเจนถึงการใช้โภชนาการบำบัดและป้องกันโรคต่างๆ เพราะในวิถีชีวิตของคนอีสานมีหลักการดำเนินชีวิตว่า “กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา.........” จึงอาจถือว่าปลาร้าคืออัตลักษณ์อาหารของชาวอีสาน ในที่นี้ขอเสนอสาระสังเขปดังนี้

ปลาร้าหรือปลาแดกในวัฒนธรรมอีสานเป็นอาหารหลักและเครื่องปรุงรสที่สำคัญที่สุด จนถือเป็นหนึ่งในวิญญาณห้าของความเป็นอีสาน ได้แก่ ข้าวเหนียว ลาบ ส้มตำ หมอลำ และปลาร้า ชีวิตชาวอีสานก่อนปี พ.ศ.2500 ครอบครัวชาวนาทุกครอบครัวจะทำปลาร้ากินเอง โดยหมักปลาร้าไว้มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและความอุดมสมบูรณ์ของปลา ปลาร้าเป็นการถนอมปลาไว้เป็นอาหารนอกฤดูกาล มีข้อมูลเชิงสถิติระบุไว้ว่า กำลังการผลิตปลาร้าทั่วประเทศ 20,000-40,000 ตัน/ปี ครัวเรือนอีสานผลิตปลาร้าเฉลี่ย 27.09 กิโลกรัม/ปี อัตราการบริโภคปลาร้าโดยเฉลี่ยประมาณ 15-50 กรัม/คน/วัน ปริมาณการซื้อขายปลาร้าทั่วประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 9 ล้านบาทต่อวัน

กรมประมงกำหนดมาตรฐานปลาร้าไทย เพื่อส่งเสริมการบริโภคปลาร้าอย่างมีคุณค่าทางโภชนาการและส่งเสริมปลาร้าส่งออกให้ได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศ ในแต่ละปีไทยส่งออกปีละ20 ล้านบาท วิจัยพบปลาร้ามีคุณค่าทางโภชนาการมีโปรตีนเท่ากับเนื้อหมู ระบุปลาร้าที่วางจำหน่ายอยู่ในตลาดมีคุณภาพดี

คำว่า "ปลาร้า" คือ ปลาที่หมักด้วยเกลือใส่ข้าวคั่วหรือรำ (พจนานุกรมภาษาถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, อรุณการพิมพ์ : กรุงเทพฯ. 2537) ในภาษาอีสาน ตรงกับคำว่า "ปลาร้า" ในภาษาไทยกลาง และปลาฮ็อกในภาษาเขมร แต่ในความเป็นจริง ปลาแดกของชาวอีสานกับปลาร้าของชาวไทยกลางนั้นมีความแตกต่างกัน อย่างน้อยก็แตกต่างกันในส่วนประกอบและวิธีการทำ และอาจจะแตกต่างกันในบทบาทต่อชีวิตประจำวันด้วย นอกจากนี้ปลาร้านี้สามารถเก็บไว้ได้นานตลอดไป แต่โดยมากก็จะนำไปรับประทาน ปรุงอาหาร หรือแลกเปลี่ยนจนหมดเมื่อมีปลาร้ารุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ แต่จากการสัมภาษณ์ยายไพรัตน์ ที่เป็นชาวบ้านอีสาน ที่เคยทำปลาร้าสมัยเป็นสาวรุ่นๆ ได้ให้ความหมายของคำว่า "แดก" ว่ามาจากคำว่า "แหลก" คือปลาที่นำมาทำปลาร้านี้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาเล็กปลาน้อย หรือหากมีปลาที่ตัวใหญ่หน่อยก็จะต้องสับให้ "แหลก" เพื่อให้เข้าน้ำเข้าเกลือได้อย่างทั่วตัวปลา ฉะนั้น ปลาที่นำมาทำปลาแดกจึงมีลักษณะที่ "แหลก" แต่ชาวอีสานหลายพื้นที่ออกเสียงอักษร "ร", "ล" กับอักษร "ด" กลับกัน จึงทำให้ "ปลาแหลก" กลายเป็น "ปลาแดก" ในที่สุด

ดังนั้น คำว่า "แดก" ในภาษาอีสานจึงไม่ใช่คำหยาบที่หมายถึง "รับประทาน" ในภาษาไทยกลาง และดูเหมือนคำว่า "แดก" จะไม่มีที่ใช้ในความหมายอื่นอีกแล้วในภาษาอีสานนอกจากความหมายที่กล่าวแล้วข้างต้น
ส่วนคำไม่สุภาพที่ชาวอีสานใช้ในความหมายของ "รับประทาน" นั้นคือคำว่า "ซีแตก" ซึ่งตรงกับคำว่า "แดก" ในภาษาไทยกลางนั่นเอง

“แดก" ไม่ใช่คำหยาบ” คำว่า "แดก" ในภาษาอีสานเป็นคำกิริยา หมายถึง การดันหรือยัดสิ่งหนึ่งเข้าไปในอีกสิ่งหนึ่ง หากจะนำเอาคำว่าแดกมาวิเคราะห์ความหมายตรงๆ ของคำว่า "ปลาแดก" ก็คงหมายถึง การดัน หรือยัดปลาแดกลงไปในไห แต่จากการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ชาวบ้านอีสานหลายคนได้ให้ความหมายของคำว่า "แดก" ว่ามาจากคำว่า "แหลก" คือปลาที่นำมาทำปลาร้านี้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาเล็กปลาน้อย หรือหากมีปลาที่ตัวใหญ่หน่อยก็จะต้องสับให้ "แหลก" เพื่อให้เข้าน้ำเข้าเกลือได้อย่างทั่วตัวปลา ฉะนั้น ปลาที่นำมาทำปลาร้าจึงมีลักษณะที่ "แหลก" แต่ชาวอีสานหลายพื้นที่ออกเสียงอักษร "ร", "ล" กับอักษร "ด" กลับกัน จึงทำให้ "ปลาแหลก" กลายเป็น "ปลาแดก" ในที่สุด ดังนั้น คำว่า "แดก" ในภาษาอีสานจึงไม่ใช่คำหยาบที่หมายถึง "รับประทาน" ในภาษาไทยกลาง และดูเหมือนคำว่า "แดก" จะไม่มีที่ใช้ในความหมายอื่นอีกแล้วในภาษาอีสานนอกจากความหมายที่กล่าวแล้วข้างต้น

"ปลาร้า" กับความมั่นคงในชีวิต” ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของความมั่นคงในการดำรงชีวิตของชาวอีสานก็คือ การมีอาหารกินได้ตลอดปี หากมีอาหารเก็บกักไว้กินได้ตลอดปี นั่นหมายถึงความรู้สึกมั่นคงในการดำรงชีวิตของชาวอีสาน
สิ่งสำคัญ 2 สิ่งที่ทำให้ชาวนาอีสานมีอาหารกินได้ตลอดปีคือ ข้าว กับ ปลาร้าสำหรับ ข้าว นั้นเป็นอันเข้าใจได้ว่าการได้ข้าวในปริมาณที่มากพอที่จะใช้บริโภคได้ตลอดปีและมีเหลือสำหรับการแลกเปลี่ยนกับปัจจัยในการดำรงชีวิตอื่นๆ ที่อาจจะขาดไปในบางครั้ง ส่วนของปลาร้านั้นจะมีช่วงหนึ่งในตอนปลายฤดูการปักดำ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของฤดูฝนเป็นเวลาที่ปลาจะกลับลงสู่แม่น้ำลำคลอง เพื่อหนีความแห้งแล้งของฤดูแล้งที่กำลังจะตามมา ช่วงฝนสุดท้ายนี้ชาวอีสานเรียกว่า "ปลาลง" ชาวอีสานจะรีบดักปลาที่กำลัง "ลง" จากนาข้าวไปยังแหล่งน้ำใหญ่ เป็นช่วงที่ชาวนาจะได้ปลาร้ากันเกือบทุกครอบครัว ปลาร้านี้จะต้องมีปริมาณที่มากพอในการบริโภคตลอดปี จนกว่าจะมีปลาร้าใหม่เข้ามาแทนที่ ปลาร้ามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของชาวอีสานมากสามารถนำมาทำเป็นอาหารได้หลายอย่าง นับตั้งแต่การนำมารับประทานกับข้าวเหนียวได้เลย โดยมีพริกขี้หนู หอม และผักต่างๆ เป็นส่วนประกอบ จะนำมาสับให้ละเอียด ใส่เครื่องปรุง เช่น หอม ตะไคร้ พริกสด มะนาว ใบมะกรูด ก็จะได้ "ลาบปลาร้า" ถ้านำมาทรงเครื่องหมกใบตองแล้วนำไปตั้งไฟ ก็จะได้ "หมกปลาร้า"

นอกจากนำมาเป็นอาหารโดยตัวของมันเองแล้ว อาหารอีสานทุกอย่างไล่ไปตั้งแต่ แจ่ว (น้ำพริก) ส้มตำ แกงคั่ว อ่อม อ๋อ หมก ป่น ลาบ ก้อย ฯลฯ ปลาร้าจะมีส่วนร่วมอยู่ในอาหารอีสานทุกอย่าง หากขาดปลาร้าเป็นส่วนประกอบแล้วก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นอาหารอีสานฉบับแท้ได้เลย แกงหน่อไม้หรือป่นปลาที่ไม่ได้ใส่ปลาร้านั้น ต่อให้คนปรุงฝีมือดีเลิศปานใดก็ไม่อาจมีรสชาติที่แท้จริงได้เลย นอกจากบริโภคเองในครอบครัวแล้ว ปลาร้ายังเป็นของฝากที่ดีด้วยเมื่อญาติพี่น้องไปมาหาสู่กัน สิ่งที่ชาวบ้านอีสานนิยมฝากติดไม้ติดมือไปด้วยก็คือปลาร้า ชาวบ้านที่มีฝีมือขึ้นชื่อในการทำปลาร้าในหมู่บ้านหนึ่งนั้นย่อมเป็นที่รับรู้กัน

“ยุคเผชิญหน้า "น้ำปลา-ปลาร้า" การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจเพื่อเลี้ยงตัวเอง เป็นเศรษฐกิจเพื่อการค้า ได้เกิดแก่ชุมชนหมู่บ้านอีสานอย่าง กว้างขวาง ภายหลังจากการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเกือบทุกหมู่บ้านมีถนนตัดเข้าไปถึง
ถนนที่ตัดเข้าไปยังหมู่บ้านได้นำเอาสินค้าใหม่ๆ หลากหลายชนิดเข้าไปสัมผัสกับชีวิตชนบทอีสาน เครื่องกินของใช้หลายอย่างที่ชาวบ้านเคยผลิตเองใช้เอง ก็เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อขายเพิ่มเข้าไปในการผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเอง เพื่อให้มีส่วนเกินสำหรับนำไปขายให้ได้เงินมาซื้อสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ ที่ประดังเข้ามาในหมู่บ้าน สื่อมวลชนต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ตลอดจนพ่อค้าชาวจีนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้เข้าไปมีบทบาทในการปลุกระดมเพื่อสร้างแนวคิด โลกทัศน์ค่านิยมในการบริโภคแบบคนเมืองให้กับชนบทอีสาน เงินตราได้เข้าไปมีบทบาทในชีวิตของชาวอีสานถึงขนาดที่เป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ปริมาณของความสุขความทุกข์นั้นวัดกันด้วยจำนวนเงิน

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจดังกล่าว เข้าไปกระทบชีวิตของชาวอีสานอย่างมากมาย มากมายจนหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ไม่สามารถจะอธิบายผลกระทบได้ทั้งหมด ในบรรดาผลกระทบทั้งมวลนั้น "ปลาร้า" ก็ได้รับผลกระทบอันนั้นด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปลาร้าที่เคยยืนโดดเด่นในฐานะเป็นส่วนสำคัญในอาหารทุกอย่างเป็นคำข้าวทุกคำของชาวอีสานได้ลดบทบาทลงอย่างรวดเร็ว

"น้ำปลาชนิดต่างๆ จากโรงงานอุตสาหกรรมได้เข้าไปแสดงบทบาทแข่งกับปลาร้าของชาวอีสาน" แต่ถึงแม้ว่าบทบาทของน้ำปลานั้นไม่มีทางที่จะไปแทนที่ปลาแดกได้อย่างแท้จริงก็ตาม แต่น้ำปลาก็เป็นสัญลักษณ์ของคนเมือง เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย จึงทำให้สายตาภายนอกที่มองเข้าไปในชนบทอีสานมองว่าปลาร้าเป็นของเก่า ล้าสมัย ไม่สะอาด ขณะนี้กำลังมีการโฆษณาวิธีการทำน้ำปลาจากปลาร้า ซึ่งนั่นหมายถึงการให้ความสำคัญน้ำปลาก่อนปลาร้า ปลาแดก มิได้หมายความเพียงเป็นตัวแทนของความเค็มอย่างเดียวกับน้ำปลา เพราะลำพังความ "เค็ม" นั้น เกลือได้ทำหน้าที่ของมันเต็มที่อยู่แล้ว แต่ปลาแดกมีความหมายต่อชีวิตของชุมชนมากกว่าความ "เค็ม" แม้แต่ที่มาของปลาแดกก็แตกต่างจากน้ำปลาอย่างชัดเจนที่มาของปลาแดกไม่เกี่ยวข้องกับเงินตราเลยแม้แต่บาทเดียว เพราะไม่ว่าจะเป็นปลา เกลือ รำข้าว ล้วนแล้วแต่อยู่ในวิสัยที่ชาวบ้านสามารถผลิตได้ด้วยตนเองทั้งสิ้น แต่น้ำปลานั้นมีที่มาจาก "เงินตรา" อย่างแท้จริง (ที่มา : วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 13 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535)ปลาร้าเป็นอาหารหลักอีกประเภทหนึ่งที่ชาวบ้านอีสานกินคู่กับข้าวหรือปลา นากจากนำปลาสดมาปรุงเป็นอาหารบริโภคได้หลายรูปแบบตามความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ปลาส่วนหนึ่งชาวอีสานจะนำมาเก็บถนอมไว้ให้ได้กินนาน ๆ คือ ปลาร้า