พลาสติกเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มนุษย์รู้จักมานานกว่า ๑๓๐ ปี และนำมาใช้ประโยชน์ แทนโลหะ ไม้ หรือวัสดุธรรมชาติอื่นๆ เช่น ทำเส้นใยสำหรับผลิตสิ่งทอ หล่อเป็นลำเรือและชิ้นส่วนของยานยนต์ ภาชนะ และวัสดุ บรรจุภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องใช้อื่นๆอีกมาก
มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากปฏิกิริยาเคมี และทำพลาสติกขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๘ โดย จอห์น เวสลีย์ ไฮแอท (John Wesley Hyatt) นักวิทยาศาสตร์ ชาวอเมริกัน ได้ทำการทดลองผลิตวัสดุชนิดหนึ่งจากปฏิกิริยาของเซลลูโลสไนเทรต กับการบูร ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถทำเป็นแผ่นแบนบาง มีความใสคล้ายกระจก แต่ม้วนหรืองอได้ และได้เรียกชื่อตาม วัตถุดิบที่ใช้ว่า “เซลลูโลสไนเทรต” ต่อมา พลาสติกชนิดนี้ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และเป็นที่นิยม เรียกว่า “เซลลูลอยด์” (Celluloid) การพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรมได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีพลาสติกชนิดอื่นๆเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย
อุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทย เริ่มมีมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ ในระยะแรกมีการนำเข้าพลาสติกเรซินจาก ต่างประเทศ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกกันประปราย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้มีการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังคงต้องนำเข้าเรซินจากต่างประเทศเช่นกัน จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ประเทศไทยจึงสามารถผลิตพลาสติกเรซินคือ พีวีซี ได้เองเป็นชนิดแรก ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตพลาสติกได้อีกหลายชนิด เช่น พอลิเอทิลีน พอลิโพรไพลีน พอลิสไตรีน และพอลิเอสเทอร์
วัตถุดิบที่สำคัญที่ใช้สำหรับการผลิต พลาสติกคือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แร่ธาตุต่างๆ เป็น ส่วนใหญ่ นอกจากนี้อาจผลิตจากน้ำมันพืช และส่วนต่างๆของพืชได้เช่นกัน
- ปิโตรเลียม
ปิโตรเลียมเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกแทบทุก ชนิด ประเทศไทยมีแหล่งผลิตปิโตรเลียม หลายแห่ง แต่ไม่มีการนำมาทำประโยชน์ ในด้านผลิตภัณฑ์พลาสติก มีเพียงการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้ จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และสามารถ นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติก ที่สำคัญ ได้แก่ สารในกลุ่มโอเลฟิน (Olefins) เช่น มีเทน อีเทน โพรเพน บิวเทน และเพนเทน และสารในกลุ่มอะโรแมติก (Aromatics) เช่น เบนซีน และอนุพันธ์ของเบนซีน สารทั้ง ๒ กลุ่มสามารถนำมาผลิตมอนอเมอร์ได้มากมายหลายชนิด
- ก๊าซธรรมชาติ
ก๊าซธรรมชาติที่พบในประเทศไทยมีส่วนประกอบเป็นสารไฮโดรคาร์บอน ที่ สำคัญคือ มีเทน อีเทน โพรเพน และบิวเทน เป็นส่วนใหญ่ สารไฮโดรคาร์บอนเหล่านี้ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทิลีนมอนอเมอร์ และโพรไพลีนมอนอเมอร์ ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นสำหรับการผลิตพลาสติกหลายชนิด
- ถ่านหินและลิกไนต์
ประเทศไทยมีแหล่งลิกไนต์สำคัญ ๒ แห่งคือ ที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง และที่จังหวัดกระบี่ ประโยชน์ของลิกไนต์นอกจาก ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า แล้ว ยังใช้ผลิตเบนซีน และอนุพันธ์ของ เบนซีน เช่น สไตรีนมอนอเมอร์ ได้ด้วย
- พืชและน้ำมันพืช
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลาสติกบาง ชนิด ได้แก่ ส่วนต่างๆของพืชและน้ำมันพืช เช่น เซลลูโลส เชลแล็ก และกรดไขมันต่างๆ
- แร่ธาตุต่างๆ
สินแร่บางชนิด เช่น ถ่านโค้ก และหินปูน เป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแคลเซียมคาร์ไบด์ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอะเซทิลีน นอกจากนี้ คลอรีนที่ผลิตได้จากน้ำทะเล ตลอดจนแร่ใยหินได้นำมาใช้ สำหรับผลิตพลาสติกเสริมแรง
วัตถุดิบที่ใช้เป็นสารเริ่มต้นสำหรับการ ผลิตพลาสติกที่ได้จากแหล่งต่างๆนั้นจะมีลักษณะเป็นสารไฮโดรคาร์บอนโมเลกุลเดี่ยว เรียกว่า มอนอเมอร์ ที่สำคัญ ได้แก่ เอทิลีน ไวนิลคลอไรด์ ไวนิลฟลูออไรด์ โพรไพลีน บิวทาไดอีน เบนซีน ไซลีน ฟีนอล ยูเรีย และฟอร์มาลดีไฮด์
ข้อมูลจาก http://kanchanapisek.or.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น