หากความหมายของการ “ตื่น” คือ การมีสติ การรู้ตัว และไม่เผลอหลงไปกับพฤติกรรมหรือความคิดที่เราเคยชิน การเจริญสติในชีวิตประจำวันย่อมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับผู้ปฏิบัติ แต่การ ‘ตื่น’ ในชีวิตประจำวันนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก … แต่ก็ไม่ได้ยากลำบากจนเกินไปเช่นกัน
จากการพูดคุยกับพี่น้องผู้ปฏิบัติหลายท่าน เราได้รับฟังประสบการณ์ที่แต่ละคนแลกเปลี่ยนว่า มีวิธีการปฏิบัติส่วนตัวในชีวิตประจำวันกันอย่างไรบ้าง เราจึงอดไม่ได้ที่จะนำเสนอกุศโลบายที่แยบคาย และน่าสนุกยิ่งสำหรับนักปฏิบัติในคอลัมน์ครั้งนี้
1. ระฆังแห่งสติในคอมพิวเตอร์
เหมาะมากสำหรับผู้ที่ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน เมื่อได้ยินเสียงระฆังจากโปรแกรม (เราสามารถตั้งไว้ได้ว่าจะให้ดังทุก 15 นาที หรือ ทุกชั่วโมง ที่กังวานใส เราก็เพียงหยุดทุกสิ่งที่ทำอยู่ รวมถึงหยุดคิดด้วย แล้วกลับมาอยู่กับลมหายใจแห่งสติสัก 3 ลมหายใจ แล้วจึงค่อยทำงานต่อ ส่วนใครจะหายใจไปด้วย ยิ้มไปด้วย ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
2. ระฆังแห่งสติในชีวิตประจำวัน
สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ก็สามารถเจริญสติได้ โดยการหาอะไรสักอย่างที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันมาเป็น “ระฆังแห่งสติ” ให้กับตนเอง บางคนใช้เสียงโทรศัพท์ที่ดังขึ้นก็ตามลมหายใจก่อนรับโทรศัพท์ มีพี่หมอท่านหนึ่งได้แลกเปลี่ยนว่า เพราะการเป็นหมอดมยาในห้องผ่าตัด (วิสัญญีแพทย์) พี่หมอจึงใช้เสียงของเครื่องปั๊มอากาศในห้องผ่าตัดแทนระฆัง เมื่อได้ยินเสียงเครื่องปั๊มอากาศพี่หมอก็กลับมาอยู่กับลมหายใจ แล้วชวนให้ผู้ป่วยกลับมาอยู่กับลมหายใจพร้อมกัน พี่หมอบอกว่านอกจากตัวเองแล้ว ยังสังเกตได้ว่าผู้ป่วยที่เคยกังวล ค่อยๆ หลับไปด้วยความผ่อนคลายยิ่งขึ้นด้วย งานนี้เรียกว่าหนึ่งได้สองกันเลยเชียว
3. ทางเดินแห่งสติ
เราอาจเลือกเส้นทางหนึ่งที่เราต้องเดินในทุกวันให้เป็นทางเดินแห่งสติของเราเอง อาจเป็นทางเดินที่ไม่ไกลนัก เช่น จากที่จอดรถไปห้องทำงาน หรือจากตึกหนึ่งไปสู่อีกตึกหนึ่งหรือบันไดระหว่างชั้นที่เรามักต้องขึ้นลงบ่อยๆ ขอให้เราตั้งใจเอาไว้ว่า ในเส้นทางนี้เราจะเดินอย่างมีสติในทุกย่างก้าว ให้เป็นเส้นทางที่เดินแล้วเราได้ผ่อนคลาย เป็นการเดินที่สร้างรอยยิ้มให้กับเราก็เพียงพอแล้ว
4. ไฟแดงคือหยุดอย่างแท้จริง
น้องคนหนึ่งแลกเปลี่ยนว่า แทนที่จะปล่อยความหงุดหงิดไปกับรถติดบนท้องถนน เธอเลือกที่จะใช้ไฟแดงนั้นเป็นอุปกรณ์ทำให้เธอได้กลับมาอยู่กับลมหายใจ และยิ้มให้กับไฟแดงซะเลย ยิ่งติดไฟแดงบ่อยเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสกลับมาอยู่กับลมหายใจเท่านั้น เธอบอกไว้พร้อมรอยยิ้ม
5. จักรวาลในจานข้าว
บางคนจะที่ชอบทานก็สามารถยึดเอาเป็นสรณะได้เช่นกัน เพราะยิ่งทานก็ยิ่งมีโอกาสได้พิจารณาอาหารได้มากครั้งเท่านั้น เราได้มีโอกาสฝึกมองอย่างลึกซึ้งว่าอาหารหรือขนมที่อยู่ตรงหน้านั้นมาจากไหนบ้าง มีผู้คนที่ทำงานหนักด้วยความรักความเอาใจใส่อยู่มากมายเพียงใดในอาหารจานนี้ ที่สำคัญเรากำลังจะทานด้วยความรู้สึกอย่างไร เพียงเท่านี้เวลาในการทานอาหารก็กลายเป็นเวลาอันประเสริฐแห่งการปฏิบัติแล้ว
6. เพลงพาใจเบิกบาน
หมู่บ้านพลัมมีบทเพลงที่เชื้อเชิญให้กลับมาอยู่กับลมหายใจ กับปัจจุบันขณะ กับตัวเราเอง กับความเบิกบาน มากมาย เวลาที่ขุ่นมัวเราอาจจะฮัมเพลงเหล่านั้นขึ้นมาเบาๆ ซึ่งแม้เพียงแผ่วเบา ดอกไม้ก็สามารถบานขึ้นในใจได้เช่นกัน หรือใครจำเพลงของหมู่บ้านพลัมไม่ได้ อาจเลือกเพลงที่มีความหมายดีๆ ที่ชอบเป็นการส่วนตัวแทนก็ได้ ไม่ว่ากัน
7. ปฏิบัติกับสังฆะ
การดำรงสติในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่การปฏิบัติร่วมกันเป็นหมู่คณะช่วยให้การปฏิบัติง่ายขึ้นได้ เวลาเรายิ้มไม่ค่อยออก พี่น้องข้างหน้าจะส่งยิ้มให้เรายิ้มตอบ เวลาเราไม่ค่อยมีสติ พี่น้องข้างขวาจะปฏิบัติอย่างมีสติให้เราเห็น เวลาเราหลงลืมการปฏิบัติ พี่น้องข้างซ้ายจะปฏิบัติอย่างถูกต้องให้เราได้ทำตาม เวลาเราหมดกำลังใจ พี่น้องข้างหลังจะส่งพลังแห่งสติและความเบิกบานมาเกื้อกูล “สังฆะอยู่รอบตัวเราเพื่อเกื้อกูลกันและกัน ถ้าเป็นไปได้ควรปฏิบัติร่วมกันเป็นสังฆะดีกว่าปฏิบัติเพียงลำพังคนเดียว” หลวงปู่กล่าวเอาไว้เช่นนั้น
8. ยิ้มช่วยท่านได้
เพื่อนนักปฏิบัติคนหนึ่งที่แม้จะไม่รู้จักหลวงพี่นิรามิสาเป็นการส่วนตัว แต่เพราะชอบรอยยิ้มอันเบิกบานของหลวงพี่ จึงตัดเอารูปของหลวงพี่จากนิตยสารฉบับหนึ่งเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะ เมื่อหงุดหงิดหรือมีความโกรธขึ้นมา พี่คนนี้ก็จะเปิดลิ้นชักออกมาและพบกับรอยยิ้มของหลวงพี่ ในทันใดก็สามารถสัมผัสถึงรอยยิ้มของหลวงพี่และสามารถยิ้มกลับไปได้ เมื่อรอยยิ้มเกิด ความโกรธก็จากลาไปในขณะเดียวกัน : )
9. หลวงปู่ช่วยท่านได้
พี่คนหนึ่ง (อักษรย่อ ต.) เป็นคนชอบดื่มเหล้า เมื่อปฏิบัติก็รับศีลและตั้งใจว่าจะลดการดื่มลง เมื่อกลับไปที่บ้าน พี่ต. นำใบรับศีลที่ได้วางไว้หน้าขวดเหล้าในตู้เพื่อเป็นระฆังสติ เตือนใจยามที่เพื่อนมาที่บ้านแล้วจะสังสรรค์กัน เท่านั้นไม่พอ พี่ต. ยังนำรูปหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ วางไว้หลังใบรับศีล เผื่อว่าวันไหนอดใจไม่ไหว หยิบใบรับศีลออกก็จะยังได้เจอกับหลวงปู่อีกเป็นปราการด่านสุดท้าย และขอรายงานว่า จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ขวดสุราของ พี่ต. ยังไม่พร่องไปเลยสักนิด เพราะการปฏิบัติเช่นนี้นี่เอง
10. ……………
สำหรับข้อนี้ขอเว้นว่างเอาไว้ให้คุณผู้อ่านได้เติมวิธีปฏิบัติของตัวเองว่ามีวิธีการ “ตื่น” อย่างไรบ้าง …๐
ที่มา palungjit
ข้อมูลจาก หมู่บ้านพลัม thaiplumvillage
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น