วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

สึนามิมาจากไหน


คำว่า "สึนามิ" มาจากภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า "ท่าเรือ" (津 สึ) และ "คลื่น" (波/浪 นะมิ)ศัพท์คำนี้บัญญัติขึ้นโดยชาวประมงญี่ปุ่น ผู้ซึ่งแล่นเรือกลับเข้าฝั่งมายังท่าเรือ และพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยรายล้อมอยู่รอบท่าเรือนั้นถูกทำลายพังพินาศไปจนหมดสิ้น โดยในระหว่างที่เขาลอยเรืออยู่กลางทะเลกว้างนั้นไม่ได้รู้สึกหรือสังเกตพบความผิดปกติของคลื่นดังกล่าวเลย ทั้งนี้เนื่องจากคลื่นสึนามิไม่ใช่ปรากฏการณ์ระดับผิวน้ำในเขตน้ำลึก เพราะคลื่นที่เกิดขึ้นจะมีขนาดของคลื่น (แอมพลิจูด) ขนาดเล็กมากเมื่ออยู่ในพื้นน้ำนอกชายฝั่ง ในขณะเดียวกันก็มีความยาวคลื่นที่ยาวมาก (ปกติจะมีความยาวหลายร้อยกิโลเมตร) ทำให้คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นไม่สามารถสังเกตเห็นได้ขณะที่ลอยเรืออยู่บนผิวน้ำกลางทะเลลึก เนื่องจากคลื่นที่เกิดขึ้นจะเห็นเป็นเพียงแค่เนินต่ำๆ ตะคุ่มๆ อยู่ใต้น้ำเท่านั้น

คลื่นสึนามินี้ ในทางประวัติศาสตร์มีการอ้างอิงถึงว่าเป็น คลื่นใต้น้ำ (tidal waves) เนื่องจากเมื่อคลื่นดังกล่าวเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่ง จะยิ่งมีลักษณะเหมือนการไหลท่วมของกระแสน้ำขึ้นที่ถาโถมเข้าสู่ฝั่งอย่างรุนแรง มากกว่าที่จะมีลักษณะเหมือนกับเกลียวคลื่นที่เกิดจากการพัดกระหน่ำของสายลมจากกลางมหาสมุทรเข้าสู่ฝั่ง เนื่องจากโดยแท้จริงแล้วคลื่นสึนามิไม่ได้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ใดๆ เลยกับน้ำขึ้นน้ำลง จึงมีการมองว่า คำว่า "tidal waves" นั้น อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดถึงสาเหตุของการเกิดคลื่นดังกล่าวได้ นักสมุทรศาสตร์จึงไม่แนะนำให้เรียกคลื่นสึนามิว่า "tidal waves" แต่แนะนำให้เรียกเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "Seismic Sea Wave" ซึ่งมีความหมายตรงๆ ในภาษาไทยว่า คลื่นทะเลที่เกิดจากแรงสั่นสะเทือน ทั้งนี้ ในเว็บไซต์และหนังสือบางเล่ม กล่าวถึงชื่อเรียกของคลื่นชนิดนี้ในภาษาอังกฤษผิด คือ "Harbor Wave" ซึ่งเป็นชื่อที่แปลอย่างตรงตัวจากภาษาญี่ปุ่น แต่ไม่ได้ให้ความหมายใดๆ ในภาษาอังกฤษ

คลื่นสึนามิเกิดขึ้นจากการกระทบกระเทือนที่ทำให้น้ำปริมาณมากเกิดการเคลื่อนตัว เช่น แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม หรืออุกกาบาตพุ่งชน

เมื่อแผ่นดินใต้ทะเลเกิดการเปลี่ยนรูปร่างอย่างกระทันหัน จะทำให้น้ำทะเลเกิดเคลื่อนตัวเพื่อปรับระดับให้เข้าสู่จุดสมดุลและจะก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ การเปลี่ยนรูปร่างของพื้นทะเลมักเกิดขึ้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวเนื่องจากการขยับตัวของเปลือกโลก ซึ่งจะเกิดบริเวณที่ขอบของเปลือกโลกหลายแผ่นเชื่อมต่อกันที่เรียกว่า รอยเลื่อน (fault) เช่น บริเวณขอบของมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากแผ่นดินไหวแล้ว ดินถล่มใต้น้ำที่มักเกิดร่วมกับแผ่นดินไหวสามารถทำให้เกิดคลื่นสึนามิได้เช่นกัน

นอกจากการกระทบกระเทือนที่เกิดใต้น้ำแล้ว การที่พื้นดินขนาดใหญ่ถล่มลงทะเล หรือการตกกระทบพื้นน้ำของเทหวัตถุ ก็สามารถทำให้เกิดคลื่นได้ คลื่นสึนามิที่เกิดในรูปแบบนี้จะลดขนาดลงอย่างรวดเร็วและไม่มีผลกระทบต่อชายฝั่งที่อยู่ห่างไกลมากนัก อย่างไรก็ตาม ถ้าแผ่นดินมีขนาดใหญ่มากพอ อาจทำให้เกิด เมกะสึนามิ ซึ่งอาจมีความสูงร่วมร้อยเมตรได้


ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น