ความคิดของคนเรา มาจากไหนกันแน่เกิดจากจิตใต้สำนึกที่เราคิดหรืออะไรมีอะไรบางสิ่งส่งผลมาให้เราคิด วันนี้เรามีมาฝากกันค่ะไขเกี่ยวกับ ความคิด มาจากไหน
ความคิดทำให้เกิดอะไรหลายอย่างบนโลกใบนี้ สัญชาตญาน อาจทำให้ชีวิตดำเนินไปตามพื้นฐานของการมีชีวิต กิน อยู่ หลับ นอน สืบพันธ์ แต่เพราะความคิดกระมัง ที่เป็นจุดเริ่มต้น ให้สัญชาติญานธรรมดาของการดำรงชีวิต ซับซ้อนขึ้น ปรุงแต่งมากขึ้น แตกหน่อ ขยายออกเป็นสิ่งที่เรียกว่า "วิวัฒนาการ" จากมนุษย์ถ้ำ สู่ ยุคข้อมูลข่าวสาร
ความคิด มาจากไหน? ความคิด ปรุงแต่งขึ้นอย่างไร?
จริงๆมีศาสตร์ที่เขียนไว้มากมาย ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าผิด หรือ ถูก เพราะความคิดอีก นั่นแหละ กระบวนการทำงานของความคิด กระบวนการตรวจสอบความคิด กระบวนการพิสูจน์ความถูกต้องของความคิด คุณภาพของความคิด ล้วนเป็นเรื่องที่หาคำตอบได้ แต่ยากสำหรับการยอมรับ ซึ่งสิ่งที่จะตัดสินว่าความคิดนั้น ถูกทางหรือผิดทาง มีอยู่...
การคิด เป็นอาการของความคิด ความคิด เป็นผลลัพธ์ของการคิด กระบวนการของการคิด หล่อเลี้ยงด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่ที่คิดว่าโดยหลักๆสำคัญคือ จิต ประสบการณ์ ประสิทธิภาพของสมอง
จิต เป็นแหล่งข้อมูลที่ไม่ขีดจำกัด เท่ากับที่ปรุงแต่งไปได้อย่างไร้ขอบเขต ตราบใดที่ไม่รู้จักการควบคุม บนเส้นทางของชีวิต ไม่ว่าจะผ่านอะไรในทุกวินาที สมองอาจจะลืมบันทึก แต่ จิต ไม่เคยหยุดพักการบันทึก ประดุจทรายที่ดูราวจะปล่อยผ่านกระแสน้ำให้ล่วงเลยไปอย่างไร้ร่องรอย แต่แท้จริงแล้ว น้ำเหล่านั้นไม่ได้ไปไหน หากแต่จมตัวลงไปสู่ส่วนที่ลึกกว่า ในทางวิทยาศาสตร์ อาจเรียกมันว่า จิตไร้สำนึก
ข้อมูลของจิต ที่ได้รับการ"ฝึก" มักมีการจัดวาง เป็นระเบียบ หาข้อมูลได้ง่าย หยุดยั้งได้เร็ว เข้มแข็ง และส่งพลังสะอาด ไปสู่ความคิด ในทางตรงกันข้าม จิตที่ขาดการฝึก มักสับสน วุ่นวาย ข้อมูลของสิ่งที่สำนึกได้กับสิ่งไร้สำนึก ปนเปจนยากจะเข้าถึง แม้กับตัวเอง เมื่อจิตลักษณะนี้เข้าสู่กระบวนการความคิด ย่อมส่งผลให้เกิด ความบกพร่องได้ง่ายกว่า
การฝึก จิต เพื่อเป็นฐานความคิดที่สมบูรณ์ นั้นประกอบด้วยหลายปัจจัย แต่ทุกอย่างอยู่บนเส้นทางของการกระทำ หรือการปฏิบัติทั้งสิ้น อาทิ การให้ ผู้ให้ย่อมเป็นสุข คงไม่มีทางเข้าใจคำนี้ ถ้าไม่บังเอิญมีลูกเป็นของตัวเอง , เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก คงไม่มีทางเข้าใจคำนี้ ถ้าไม่บังเอิญรถยางแตกบนถนนเปลี่ยว แล้วมีชาวบ้านที่ไม่รู้จักกันมาช่วยเปลี่ยนยาง ฯลฯ
ทุกอย่างลงสู่การบันทึกของจิต
ประสพการณ์ ทุกอย่างก็คือประสพการณ์ ชีวิตคือประสพการณ์ ที่มีคำว่าเวลา เป็น กลไกขับเคลื่อน การได้รับการเลี้ยงดู การไม่ได้รับการเลี้ยงดู การเรียน การไม่ได้เรียน การอ่าน การไม่ได้อ่าน การฟัง การไม่ได้ฟัง ฯลฯ ล้วนเป็นประสพการณ์
ทุกวินาทีที่ผ่านไป คือประสพการณ์. ประสพการณ์ กับ เวลา จึงเป็นของคู่กันเสมอ การศึกษา การเรียน การอ่าน การฟัง เป็นประสพการณ์ ในเชิงความคิด ในขณะที่ การเขียน การทำ การพูด ฯลฯ เป็นประสพการณ์ของการทำความคิดให้ปรากฏเป็นรูปธรรม
ถ้าจะหาข้อบกพร่องของความคิด. การทำ การปฏิบัติ เท่านั้นที่สะท้อนภาพได้ชัดเจน และ เป็นจริง เมื่อเรามองภาพมุมสูง จากหอคอยสูงตระหง่าน อาจสะท้อนภาพได้กว้างไกล แต่เสียงของลมหายใจ และกลิ่นไอชีวิต สัมผัสได้จากระยะใกล้เท่านั้น คนที่เคยได้ยินเสียงลมหายใจหนักหน่วงของควายที่กำลังไถนา สัมผัสพื้นดินหนึบติดเท้าขณะไถพรวน เมื่อกลับไปยืนบนหอคอย ย่อมเข้าใจได้ดีว่า ภาพสวยยามเย็น เห็นคนกับควายที่ชายทุ่งนั้น...คืออะไร
ประสิทธิภาพของสมอง เป็น สรีระที่ติดมาแต่กำเนิด เหมือนเครื่องยนตร์ที่มีกำลังไม่เท่ากัน ความสามารถในการทำงานของสมองแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยังผลให้กระบวนการคิด ทำงานได้ไม่เท่ากัน แต่ด้วยการฝึกจิต และประสพการณ์ มันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสมองได้
กระบวนการความคิดจากสมองที่มีระดับสติปัญญาเท่ากัน จึงสามารถให้คุณภาพได้ต่างกัน หากกระบวนการทางจิต และ ประสพการณ์ มาจากเส้นทางที่ต่างกัน แน่นอน ใครที่มีครบองค์ประกอบได้ทั้งสามประการ ย่อมเป็นผู้เลิศด้วยความคิดได้
เพียงแต่..ความคิดไม่ใช่ความจริง
ความคิดเป็นเพียงกระบวนการที่แปรสภาพมาจากสัญชาตญาน และกิเลส. ความหิว ความกลัว ความต้องการ ความอยาก ทั้งในทางดีและเลว เชื้อเหล่านี้แฝงอยู่ในความคิด ซึ่งมีที่มาจาก จิต ประสพการณ์ ประสิทธิภาพของสมอง ความคิด จะแสดงพิษสง หรือ ประโยชน์ของมันออกมาได้ ก็ต่อเมื่อลงมือปฏิบัติเท่านั้น
การเมือง การปกครอง การเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตเล็กในครอบครัวเดียว ไปจนถึงสังคมโลก เคยเป็นมาเช่นไร เป็นอยู่อย่างไร และจะเป็นไปเช่นไร จึงขึ้นอยู่กับการแปรความคิดเป็นรูปธรรม. ขึ้นอยู่กับที่มาของความคิด คือ จิต ประสพการณ์ ประสิทธิภาพของสมอง
เรา จะสร้างจิตของเรา จิตของสังคมอย่างไร. เราจะสร้างประสพการณ์ที่เป็นสิ่งแวดล้อมของเรา ของสังคมอย่างไร. เราจะสร้างประสิทธิภาพของสมองของเรา ของสังคมของเราอย่างไร.
ตรงนี้กระมัง คือความหมายของพัฒนา ให้สมกับความหมายที่แท้จริงของการพัฒนะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น