วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ไฟฟ้า มาจากไหน

ไฟฟ้ามีต้นกำเนินมาอยู่หลายวิธี แต่คุณเคยรู้และเคยสงสัยบ้างหรือเปล่าค่ะ ว่าแทนจริงแล้วไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้มันมาจากไหนกันแน่ วันนี้เรามีคำตอบให้คุณค่ะ


ไฟฟ้าเกิดขึ้นได้หลายวิธี

o เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า
o เกิดจากการเปลี่ยนพลังงานความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้า
o เกิดจากการเปลี่ยนแสงสว่างให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell)หรือ โฟโตเซลล์(Photo Cell)
o เกิดจากปฎิกิริยาเคมี เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย เซลล์แห้งและเซลล์เชื้อเพลิง เป็นต้น

เกิดจากการเหนี่ยวนำของอำนาจแม่เหล็กโดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ได้แก่ ไฟฟ้าที่ใช้อยู่ตามอาคารบ้านเรือนในปัจจุบัน

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงพลังงานกลมาเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยอาศัยการเหนี่ยวนำของแม่เหล็กตามหลักการของ ไมเคิล ฟาราเดย์ คือ การเคลื่อนที่ของขดลวดตัวนำผ่านสนามแม่เหล็ก หรือการเคลื่อนที่แม่เหล็กผ่านขดลวดตัวนำ จะทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าเหนี่ยวนำขึ้นในขดลวดตัวนำนั้น

เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามี 2 ชนิด คือชนิดกระแสตรงเรียกว่า ไดนาโม(Dynamo) และชนิดกระแสสลับเรียกว่า อัลเตอร์เนเตอร์(Alternator) สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมนั้น โดยมากจะเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ ซึ่งมีทั้งแบบ 1 เฟส และแบบ 3 เฟส โดยเฉพาะเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ตามโรงไฟฟ้าจะเป็นเครื่องกำเนิดแบบ 3 เฟสทั้งหมด เนื่องจากสามารถผลิตและจ่ายกำลังไฟฟ้าได้เป็นสามเท่าของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ 1 เฟส

โดยทั่วไปแล้วเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือส่วนที่เรียกว่า โรเตอร์(Rotor) ซึ่งจะมีขดลวดตัวนำฝังอยู่ในร่องรอบแกนโรเตอร์ที่ทำจากแผ่นเหล็กซิลิคอน(Silicon Steel Sheet) ขนาดหนาประมาณ 0.35-0.5 มิลลิเมตร นำมาอัดแน่นโดยระหว่างแผ่นเหล็กซิลิคอนจะมีฉนวนเคลือบ ทั้งนี้เพื่อลดการสูญเสียที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าไหลวน (Eddy Current) ภายในแกนเหล็กของโรเตอร์จะได้รับไฟฟ้ากระแสตรงจากเอ็กไซเตอร์(Excitor) เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้น อีกส่วนหนึ่งของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าคือส่วนที่อยู่กับที่ เรียกว่า สเตเตอร์(Stator) ภายในร่องแกนสเตเตอร์ มีขดลวดซึ่งทำจากแผ่นเหล็กอัดแน่นเช่นเดียวกับโรเตอร์ฝังอยู่ อาศัยหลักการของการเคลื่อนที่ของแม่เหล็กผ่านลวดตัวนำ จะทำให้เกิดการเหนี่ยวนำแรงดันไฟฟ้าที่สเตเตอร์และนำแรงดันไฟฟ้านี้ไปใช้ต่อไป

อุปกรณ์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ คือ เอ็กไซเตอร์อยู่แกนเดียวกับโรเตอร์ ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้ากระแสตรงป้อนให้แก่โรเตอร์ (D.C. Exciting Current) เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กขึ้นบนโรเตอร์ ชนิดของเอ็กไซเตอร์จะเป็นแบบไฟฟ้ากระแสตรง หรืออาจจะใช้แบบกระแสสลับ แล้วผ่านวงจรแปลงไฟฟ้าให้เป็นกระแสตรงก่อนป้อนเข้าสู่โรเตอร์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่มักจะใช้เอ็กไซเตอร์ชนิดหลังเป็นส่นมาก

การควบคุมแรงดันไฟฟ้าของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สามารถกระทำได้โดยการปรับความเข้มของสนามแม่เหล็กที่โรเตอร์สร้างขึ้นด้วยการปรับกระแสไฟฟ้าตรงที่ป้อนให้กับโรเตอร์ ส่วนความถี่ของไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 อย่าง คือ ความเร็วรอบที่โรเตอร์หมุน ยิ่งหมุนรอบมากความถี่ไฟฟ้าก็จะยิ่งสูง และจำนวนขั้วแม่เหล็กไฟฟ้าที่สร้างขึ้นบนโรเตอร์ ยิ่งมีขั้วมากเท่าไร ความถี่ไฟฟ้าก็จะมากขึ้นตาม ซึ่งพอสรุปออกมาได้ดังสมการ

n=120f/p
f หมายถึง ความถี่ไฟฟ้า (เฮิรตซ์)
n หมายถึง ความเร็วรอบในการหมุน (รอบต่อนาที)
p หมายถึง จำนวนขั้วแม่เหล็ก (ขั้ว)

ด้านประสิทธิภาพ มิใช่อยู่ที่ตัวเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเท่านั้น ต้องควบคุมการผลิตไฟฟ้าให้ได้ระดับแรงดันและความถี่อยู่ในเกณฑ์กำหนดด้วย ดังนั้น ความเร็วรอบหมุนและสนามแม่เหล็กที่สร้างขึ้นบนโรเตอร์จึงต้องได้รับการควบคุมอยู่เสมอ โดยจะมีตัวโกเวอร์เนอร์(Governor) ควบคุมความเร็วรอบให้คงที่ ถ้าความเร็วรอบลดลงก็จะส่งสัญญาณไปยังแหล่งต้นกำลังงาน ให้เพิ่มกำลังในการหมุนมากขึ้นเพื่อเข้าสู่สภาวะปกติต่อไป

ไฟฟ้าในประเทศไทย

ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ความถี่ 50 เฮิร์ตซ์ มีทั้งระบบ 1 เฟส แรงดัน 220 โวลต์ ซึ่งใช้ในบ้านอยู่อาศัย และระบบ 3 เฟส แรงดัน 380 โวลต์ ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และแรงดันขนาด 11, 22, 33, 69, 115, 230 และ 500 กิโลโวลต์ สำหรับการส่งจ่ายไฟฟ้าภายในประเทศ

ความถี่ 50 เฮิร์ตซ์ คือ ใน 1 วินาที ขั้วแม่เหล็กเหนือและขั้วแม่เหล็กใต้ จะหมุนครบรอบตัดผ่านขดลวดตัวนำบนสเตเตอร์ครบ 50 ครั้ง ในกรณีที่โรเตอร์มีขั้วแม่เหล็ก 2 ขั้ว ความเร็วรอบของโรเตอร์จะหมุน 3,000 รอบต่อนาที แต่ถ้ามีขั้วแม่เหล็ก 4 ขั้ว ความเร็วรอบจะลดลงเหลือ 1,500 รอบต่อนาที โดยมีความถี่คงที่

แหล่งผลิตไฟฟ้า

ไฟฟ้าไม่ใช่แหล่งพลังงาน แต่เป็นเพีงพลังงานแปรรูปที่สะอาด และใช้ได้สะดวกรูปหนึ่งเท่านั้น สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานอื่นๆได้ง่าย เช่น แสงสว่าง เสียง ความร้อน พลังงานกล เป็นต้น ทั้งยังสามารถส่งไปยังระยะทางไกลได้อย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ไฟฟ้ามีความเร็วใกล้เคียงกับแสง ในระยะทาง 100 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 1 ใน 3,000 วินาที ดังนั้นจึงส่งไปถึงผู้ใช้งานได้ตลอดเวลา

สำหรับแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่แท้จริง ก็คือ พลังที่นำมาใช้ทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนตลอดเวลาหากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหยุดหมุน การผลิตไฟฟ้าจะหยุดไปด้วย

การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. ประเภทไม่ใช้เชื้อเพลิง

1.1 โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากน้ำในอ่างเก็บน้ำ หรือจากลำห้วยที่อยู่ในระดับสูงๆ

1.2 โรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติจากต้นพลังงานที่ไม่หมดสิ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ความร้อนใต้พิภพ

2. ประเภทใช้เชื้อเพลิง

2.1 โรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ ใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านลิกไนต์ หรือน้ำมันเตา เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนแก่น้ำจนเดือดเป็นไอน้ำ นำแรงดันจากไอน้ำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า

2.2 โรงไฟฟ้าพลังความร้อน ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดีเซลมาสันดาป ทำให้เกิดพลังงานกลต่อไป โรงไฟฟ้าประเภทนี้ได้แก่

1. โรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส ใช้ก๊าสธรรมชาติหรือน้ำมันดีเซล

o โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดีเซล

โรงไฟฟ้าดีเซล ใช้น้ำมันดีเซล

การทำงานของโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ



โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นการนำทรัพยากรน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าโดยอาศัยความเร็วและแรงดันสูงมาหมุนกังหันน้ำ มีขั้นตอนดังนี้

1. น้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ในระดับสูงกว่าโรงไฟฟ้าทำให้มีแรงดันน้ำสูง

2. ปล่อยน้ำในปริมาณที่ต้องการเข้ามาตามท่อส่งน้ำ เพื่อส่งไปยังอาคารโรงไฟฟ้าที่อยู่ต่ำกว่า

3. น้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ในระดับสูงกว่าโรงไฟฟ้าทำให้มีแรงดันน้ำสูง

เพลาของเครื่องกังหันน้ำต่อกับเพลาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำให้โรเตอร์หมุน เกิดการเหนี่ยวนำขึ้นในเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ได้พลังงานไฟฟ้าออกมาใช้งาน

โรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ

เป็นการแปรสภาพพลังงานเชื้อเพลิงไปเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ไอน้ำเป็นตัวกลาง ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้น้ำมันเตา ถ่านลิกไนต์ และก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีลำดับการทำงานดังนี้

1. เผาไหม้เชื้อเพลิง ทำให้เกิดการเผาไหม้ทางเคมีได้พลังงานความร้อน

2. นำความร้อนที่ได้ไปต้มน้ำ เพื่อให้กลายเป็นไอน้ำที่อุณหภูมิและความดันที่ต้องการ

3. ส่งไอน้ำเข้าไปหมุนเครื่องกังหันไอน้ำ ซึ่งมีเพลาต่ออยู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้โรเตอร์หมุนเกิดการเหนี่ยวนำขึ้นในเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ได้พลังงานไฟฟ้าออกมาใช้งาน

สำหรับในต่างประเทศ นอกจากเชื้อเพลิงที่ประเทศไทยใช้อยู่ ยังมีการใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ถ่านหินคุณภาพดี เช่น แอนทราไซต์ และบิทูมินัส เป็นต้น

โรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส

เครื่องกังหันแก๊สเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน เปลี่ยนสภาพพลังงานเชื้อเพลิงเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมีขั้นตอนการทำงานดังนี้

1. อัดอากาศให้มีความดันสูง 8-10 เท่า

2. ส่งอากาศนี้เข้าห้องเผาไหม้ โดยมีเชื้อเพลิงทำการเผาไหม้

3. อากาศในห้องเผาไหม้เกิดการขยายตัว ทำหให้มีแรงดันและอุณหภูมิสูง

4. ส่งอากาศนี้ไปหมุนเครื่องกังหันแก๊ส

เพลาของเครื่องกังหันแก๊สจะต่อผ่านชุดเกียร์ เพื่อทดรอบก่อนต่อเข้ากับเพลาของเครื่องกังหันไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อให้ความเร็วรอบของมอเตอร์ หมุนในพิกัดที่กำหนด เมื่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนจึงเกิดการเหนี่ยวนำ ผลิตแรงดันและกระแสไฟฟ้าออกมาใช้งาน

โรงไฟฟ้าระบบความร้อนร่วม

เป็นโรงไฟฟ้าที่ประกอบด้วยโรงไฟฟ้า 2 ระบบร่วมกัน คือ โรงไฟฟ้ากังหันแก๊สและโรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำ โดยนำความร้อนจากไอเสียที่ออกจากเครื่องกังหันแก๊สซึ่งมีอุณหภูมิสูงถึงประมาณ 550 องศาเซลเซียส มาใช้แทนเชื้อเพลิงในการต้มน้ำของโรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำ เพื่อใช้ไอเสียให้เกิดประโยชน์ โดยมีหลักการทำงานดังนี้

1. นำไอเสียจากเครื่องกังหันแก๊สหลายๆ เครื่องมาใช้ต้มน้ำในโรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำ

2. ไอน้ำได้จากการต้มน้ำและไปดันเครื่องกังหันไอน้ำ ทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุน ผลิตไฟฟ้าออกมาได้เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมทั่วไป

3. กำลังผลิตที่ได้จากโรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำ จะเป็นครึ่งหนึ่งของกำลังผลิตรวมของโรงไฟฟ้ากังหันแก๊สที่เดินเครื่องอยู่

การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าระบบความร้อนร่วมนี้จะทำการผลิตร่วมกัน หากเกิดเหตุขัดข้องที่โรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำก้ยังคงเดินเครื่องกังหันแก๊สได้ตามปกติ โดยการเปิดให้ไอเสียออกสู่อากาศโดยตรง แต่หากเกิดเหตุขัดข้องกับเครื่องกังหันแก๊สเครื่องใดเครื่องหนึ่ง กำลังผลิตที่ได้ก็จะลดลงตามส่วน และถ้าเครื่องกังหันแก๊สทุกตัวหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำที่ใช้ร่วมกันก็จะต้องหยุดเดินเครื่องด้วย

โรงไฟฟ้าดีเซล

เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง มีหลักการทำงานเหมือนกับเครื่องยนต์ในรถยนต์ทั่วไป โดยอาศัยหลักการสันดาปของน้ำมันดีเซลที่ถูกฉีดเข้าไปในกระบอกสูบของเครื่องยนต์ที่ถูกอัดอากาศจนมีอุณหภูมิสูง ซึ่งเราเรียกว่าจังหวะอัด ในขณะเดียวกัน น้ำมันดีเซลที่ถูกฉีดเข้าไปจะเกิดการสันดาปกับความร้อนและเกิดระเบิด ดันให้ลูกสูบเคลื่อนที่ลงไปหมุนเพลาข้อเหวี่ยงซึ่งต่อกับเพลาของเครื่องยนต์ ทำให้เพลาของเครื่องยนต์หมุน เครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งเชื่อมต่อกับเพลาของเครื่องยนต์ก็จะหมุนตาม และผลิตไฟฟ้าออกมา



การผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคต

การผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันเป็นการผลิตร่วมกันของโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ เชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าด้วยสายส่งไฟฟ้า โดยมีศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า คอยควบคุมระบบการผลิตและส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ทำให้สามารถเสริมกำลังผลิตแก่กันได้

เนื่องจากโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทมีคุณสมบัติแตกต่างกัน เช่นโรงไฟฟ้าพลังน้ำสามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าได้รวดเร็ว มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำ เพราะไม่เสียค่าเชื้อเพลิง แต่ต้องใช้ประโยชน์จากด้านอื่นๆ อีก จึงมีข้อจำกัดในด้านปริมาณและเวลาที่ใช้ ส่วนเครื่องกังหันแก๊สสามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าได้รวดเร็ว แต่เสียค่าเชื้อเพลิงสูงมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง แต่มีข้อดีคือ สามารถสร้างให้มีกำลังผลิตสูงได้

จากคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เมื่อว่างแผนจัดการผลิตไฟฟ้าแบบต่างๆ อย่างมีระบบแล้ว ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยไม่สูงเกินไป โดยมีการวางแผนการผลิตเป็นรายปี รายเดือน และแผนฉุกเฉิน ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับในอนาคต ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยยังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมภายในประเทศกำลังเจริญก้าวหน้าประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายแน่นอนที่จะขยายการพัฒนาไฟฟ้าไปสู่ชนบท กฟผ. จึงต้องมีการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าครอบคลุมระยะเวลา 17 ปี โดยแบ่งออกเป็น แผนหลักและแผนทางเลือกทดแทน แล้วพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนไปตามสภาพการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ

นอกจากนี้ กฟผ. ได้ศึกษาและวิจัยพลังงานตามธรรมชาติอื่นๆ มาทดแทน เช่น ลม แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ สำหรับการผลิตไฟฟ้าในอนาคตอีกด้วย

ส่วนในต่างประเทศก็ได้มีการศึกษาและวิจัยการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานธรรมชาติต่างๆ เช่น น้ำขึ้น-น้ำลง ความร้อนจากทะเล พลังคลื่น พลังงานรวมตัว (Fusion) พลังงานสุริยะ เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ กฟผ. ได้ติดตามศึกษามาโดยตลอด เพื่อว่าอาจนำมาใช้เป็นประโยชน์ในประเทศไทยต่อไป



ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้า

เครื่องผลิตไฟฟ้า 1 เครื่อง ของโรงไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าส่งมาสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ ระดับหนึ่ง เมื่อต้องการเพิ่มขึ้นก็จะต้องมีเครื่องผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องมีโรงไฟฟ้า หลายแห่ง แต่ละแห่งมีเครื่องผลิตไฟฟ้าหลายเครื่องตามความเหมาะสม มีสายส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงไปยังแห่ง ใช้ไฟฟ้าทุกแห่ง และจะต้องก่อสร้างแหล่งผลิตและระบบส่งไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าซึ่งเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากการขยายตัวของประชากร และการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ความถี่ 50 เฮิร์ตซ์ มีทั้งระบบ 1 เฟส แรงดัน 220 โวลต์ ซึ่งใช้ในบ้านอยู่อาศัย และระบบ 3 เฟส แรงดัน 380 โวลต์ ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และแรงดันขนาด 69,115,230 และ 500 กิโลโวต์ สำหรับการส่งจ่ายไฟฟ้าภายในประเทศ

เนื่องจากการส่งจ่ายไฟฟ้าจะต้องมีการสูญเสีย ระยะทางไกลมากจะสูญเสียมาก นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับแหล่งพลังงานที่จะนำมาใช้หมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีกด้วย ดังนั้น จึงมีการสร้างแหล่งผลิต ไฟฟ้าในที่ต่างๆ กระจายไปทั่วประเทศ

การผลิตไฟฟ้ามีสาระสำคัญ 2 ประการคือ

1. กำลังผลิต หมายถึง ความสามารถที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดกำลังผลิต มีหน่วยเป็น "วัตต์" หรือ "กิโลวัตต์ (1,000 วัตต์)" หรือ "เมกะวัตต์ (1,000 กิโลวัตต์)"

2. พลังงานไฟฟ้า หมายถึง กำลังผลิตควบคู่กับระยะเวลาที่ทำการผลิตหรือในแง่การใช้ไฟฟ้า ก็หมายถึง ความสิ้นเปลืองไฟฟ้าที่ใช้ ซึ่งก็คือ กำลังไฟฟ้าที่ใช้ควบคู่กับระยะเวลาในการใช้ มีหน่วยเป็น "กิโลวัตต์ชั่วโมง" หรือ "หน่วย" หรือ "ยูนิต"

ไฟฟ้าไม่ใช่แหล่งพลังงาน แต่เป็นเพียงพลังงานรูปหนึ่งเท่านั้น แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่แท้จริงก็คือ พลังที่นำมาใช้ทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนตลอดเวลาหากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหยุดหมุน การผลิตไฟฟ้าจะหยุดไปด้วย

สำหรับพลังที่นำมาใช้เดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือต้นกำลังที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ ได้แก่

1. พลังน้ำ จากน้ำในอ่างเก็บน้ำ หรือน้ำจากลำห้วยที่อยู่สูงๆ

2. พลังความร้อน หรือ พลังไอน้ำ ซึ่งได้ความร้อนจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านลิกไนต์ และน้ำมันเตา

3. พลังกังหันแก๊ส ได้ความร้อนจากก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันมันเตา

4. พลังจากเครื่องยนต์ดีเซล อาศัยน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง

พลังงานธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นพลังงานที่ไม่หมดสิ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นต้น

ระบบส่งไฟฟ้า

จากโรงไฟฟ้าต่างๆ ทำการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยแรงดันระดับหนึ่ง แล้วส่งผ่านหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อปรับแรงดันให้สูงขึ้นแล้วส่งเข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้า เริ่มต้นที่ลานไกไฟฟ้าสายส่งไฟฟ้าแรงสูงแล้วไปสิ้นสุดที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง โดยมีศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าคอยควบคุมการผลิตและส่งไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ สถานีไฟฟ้าแรงสูงจะมีหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อลดระดับแรงดันไฟฟ้าแล้วส่งให้ฝ่าย จำหน่ายส่งบริการประชาชนต่อไปหรืออาจจะส่งให้โรงงานอุตสาหกรรม หรือส่งต่อไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งอื่นที่มีสายส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงกัน

ในประเทศไทยมีสถานีไฟฟ้าแรงสูงตั้งกระจายตามแหล่งชุมชน และอุตสาหกรรมทั่วไป มีสายส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงระหว่างสถานีไฟฟ้าแรงสูงต่างๆ ทำให้การดำเนินการผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าเป็นไปด้วยดี

สายส่งไฟฟ้า

แหล่ง ผลิตไฟฟ้ามักจะตั้งอยู่ห่างไกลจากแหล่งใช้งานเพื่อลดการสูญเสียภายในสายส่ง ไฟฟ้าที่มีระยะทางไกลให้น้อยลงจึงทำการเพิ่มแรงดันโดยหม้อแปลงไฟฟ้าสำหรับ สายส่งไฟฟ้าแรงสูงของประเทศไทย ประกอบด้วยแรงดันระดับต่างๆ คือ ขนาดแรงดัน 69,115,230 กิโลโวลต์และ ขนาดแรงดันสูงพิเศษ 500 กิโลโวลต์

สถานีไฟฟ้าแรงสูง

เพื่อลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าซึ่งศูนย์กลางการใช้ไฟฟ้าอยู่ห่างไกลจากแหล่งผลิตไฟฟ้า จึงต้องส่งไฟฟ้าด้วยแรงดันไฟฟ้าระดับสูงเมื่อเข้าใกล้แหล่งใช้ไฟฟ้าก็ลดระดับแรงดันลงมาก่อนที่จะส่ง ไปจ่ายให้กับผู้ใช้ต่อไป การลดแรงดันจากระดับสูงลงไปถึงแรงดันระดับหนึ่งที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะนำไปจ่ายถึงผู้ใช้ไฟฟ้านั้นกระทำกันในจุดที่เรียกว่า "สถานีไฟฟ้า แรงสูง" สถานีดังกล่าวจะทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพของไฟฟ้าที่จ่าย และมีหม้อแปลงไฟฟ้าทำหน้าที่ลดแรงดันของไฟฟ้าที่จ่ายออก ซึ่งปกติจะลดลงมาเหลือเพียง 11 หรือ 22 หรือ 33 กิโลโวลต์ แล้วแต่มาตรฐานที่กำหนด

หม้อแปลงไฟฟ้าที่ประจำอยู่ตามสถานีไฟฟ้าแรงสูงต่างๆ นั้น มีความสามารถ ในการจ่ายไฟฟ้าที่ปริมาณระดับหนึ่ง โดยเหตุนี้เมื่อมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นก็จำเป็นต้องติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีพิกัดเพียงพอ

ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า

การควบคุมระบบไฟฟ้าของ กฟผ. หมายถึง การควบคุมระบบการผลิตไฟฟ้าและระบบส่ง เพื่อกระจ่ายการะแสไฟฟ้าให้กับ กฟน. กฟภ. การไฟฟ้าประเทศใกล้เคียง และลูกค้าโดยตรงของ กฟผ. ให้ได้รับกระแสไฟฟ้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน* อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

โดยเหตุที่ระบบไฟฟ้าประกอบด้วยโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ สายส่งไฟฟ้าระดับแรงดันต่างๆ และสถานีไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งตั้งกระจายอยู่ทั่วไปตามจังหวัดต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางเพื่อให้โรงไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าแรงสูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานเป็นเดียวกัน ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด หน่วยงานดังกล่าวคือ ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า

หมายเหตุ * คุณภาพมาตรฐานหมายความว่า ระบบไฟฟ้าความถี่อยู่ในระดับ 50 รอบต่อวินาที (Hertz) และแรงดันไฟฟ้าอยู่ในระดับโวลเตจ (Voltage) ที่ต้องการ เช่น 22,33,69,115,230 และ 500 กิโลโวลต์เป็นต้น

ปัจจุบัน กฟผ. แบ่งเขตการดำเนินงานจ่ายไฟออกเป็น 5 เขต คือ

1. เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 4 จังหวัด

2. เขตพื้นที่ภาคกลางทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวม 23 จังหวัด

3. เขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด รวม 19 จังหวัด

4. เขตพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด รวม 16 จังหวัด

5. เขตพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด รวม 14 จังหวัด

เพื่อให้ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานควบคุมระบบไฟฟ้า และสอดคล้องกับการบริหารระบบส่งไฟฟ้าทั้งหมด 5 เขต จึงแบ่งศูนย์ ออกเป็น 6 ศูนย์ ด้วยกันดังนี้

1. ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าส่วนกลาง ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. จังหวัดนนทบุรี มีหน้าที่และรับผิดชอบในการควบคุมะบบส่งไฟฟ้าในสายส่ง 230 กิโลโวลต์ และสูงกว่า ทั่วประเทศ รวมทั้งสายส่งเชื่อมโยงระหว่าง กฟผ. กับบริษัทรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวและกับการไฟฟ้ามาเลเซีย พร้อมทั้งควบคุมกา0รผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มีกำลังผลิตติดตั้งสูงกว่า 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป

2. ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าเขตนครหลวง ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของ กฟผ. จังหวัดนนทบุรี มีหน้าที่และรับผิดชอบในการควบคุมระบบส่งไฟฟ้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการ ไฟฟ้านครหลวงทั้งหมด

3. ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าภาคกลาง ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของ กฟผ. จังหวัดนนทบุรี มีหน้าที่และรับผิดชอบในการควบคุมระบบส่งไฟฟ้าในสายส่ง 115 กิโลโวลต์ และต่ำกว่าและควบคุมการผลิตของโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ ในเขตพื้นที่ภาคกลาง ยกเว้นเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

4. ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งอยู่ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงขอนแก่น 1 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมระบบส่งไฟฟ้าในสายส่ง 115 กิโลโวลต์ และต่ำกว่า พร้อมทั้งควบคุมการผลิตของโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังผลิต ติดตั้งต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์

5. ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าภาคใต้ ตั้งอยู่ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงลำภูรา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการควบคุมระบบส่งไฟฟ้าในสายส่ง 115 กิโลโวลต์ และต่ำกว่า และควบคุมการผลิตของโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้งต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด

6. ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าภาคเหนือ ตั้งอยู่ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงพิษณุโลก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการควบคุมระบบส่งไฟฟ้าในสายส่ง 115 กิโลโวลต์ และต่ำกว่า และควบคุมการผลิตของโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้งต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด

ศูนย์แต่ละแห่งจะคอยดูแลและควบคุมการไฟฟ้าภายในเขตควบคุมของตนโดยจะติดต่อประสานงานกับศูนย์ส่วนกลางตลอดเวลา คอยสั่งการเดินเครื่อง เพิ่มหรือลดระดับการเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้า การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ และการปลดออกจากระบบ ทั้งนี้เพื่อให้ไฟฟ้าในระบบมีพอดีอยู่เสมอและสั่งการเพื่อส่งไฟฟ้าไปเพิ่มตามเขตต่างๆ เมื่อมีการใช้ไฟฟ้าเกินกำลังผลิตที่มีอยู่ในเขตนั้นๆ

สำหรับที่ศูนย์ส่วนกลางนั้น สามารถควบคุมการเดินเครื่อง เพิ่มหรือลดการผลิตของโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้งสูงกว่า 100 เมกะวัตต์ ขึ้นไปทั้งประเทศได้โดยตรง

ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า มีความสำคัญยิ่งต่อการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศ และยังเป็นหน่วยงานกลาง ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นไปอย่างประหยัด มั่นคง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีภารกิจหลักต้องรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวฉันใด ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าก็มีความสำคัญควบคู่กันไปด้วยฉันนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น