หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า เงินสำรองระหว่างประเทศของแบงก์ชาติ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ก้าวกระโดดเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณ 6 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรียกว่า มากขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ถึง 6-7 เท่าตัว โดยในปีหลัง ๆ เพิ่มขึ้นถึงปีละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9 แสนกว่าล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมจึงมีข้อเสนอกันเสมอ ๆ ว่า “แบงก์ชาติรวยแล้ว มีเงินสำรองระหว่างประเทศเกินพอแล้ว ควรที่จะตัดเงินจำนวนดังกล่าวออกมาบางส่วน เพื่อใช้ในการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งของชาติ หรือนำมาใช้ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ๆ ของประเทศ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม”
แบงก์ชาติรวยมาจากไหน ทำไมจึงมีสินทรัพย์ต่างประเทศเยอะถึงขนาดนี้
ก่อนอื่น ต้องเริ่มจากแหล่งที่มาของเงิน ว่าแบงก์ชาติได้สินทรัพย์เหล่านี้มาอย่างไร ซึ่งมีอยู่ 3-4 ด้าน
ด้านแรก – มาจากการพิมพ์ธนบัตรใหม่เพื่อออกใช้ในระบบ ปัจจุบันเรามีธนบัตรใช้หมุนเวียนอยู่ในระบบ นอนในกระเป๋าของทุกคน ในมือของสถาบันการเงิน รวมกันประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งทุกปี จำนวนธนบัตรออกใช้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มากไป ไม่น้อยไป ให้สอดรับกับปริมาณการใช้จ่ายในเศรษฐกิจ ที่นับวันจะมากขึ้น จากเงินเดือน รายได้ ยอดขาย ยอดการผลิต และความมั่งคั่ง ของทุกคน ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ล่าสุด ไทยมีธนบัตรเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อพิมพ์แบงก์ใหม่ออกมา ให้สถาบันการเงินแลกออกใช้ในระบบ อีกข้างหนึ่ง แบงก์ชาติก็จะได้เงินเข้าไปเก็บไว้ในกระเป๋า เป็นจำนวนเท่ากัน เมื่อได้เงินมา เงินจำนวนดังกล่าวก็จะถูกนำไปซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศเพื่อหนุนหลังธนบัตร ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เงินสำรองระหว่างประเทศจึงเพิ่มขึ้น
ด้านที่สอง – มาจากการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน แข็งขึ้นเร็วจนเกินไป โดยช่วงที่คนต้องการเงินบาทกันมาก ๆ เช่น ช่วงที่ต่างชาติอยากมาลงทุนในประเทศไทย ทั้งในตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น ตลาดอสังหา ช่วงที่เราส่งออกได้ดี รวมไปถึงช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อน ผู้ส่งออกต้องการปกป้องความเสี่ยงของตนเองแล้วเร่งขายดอลลาร์ออกมา เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น แบงก์ชาติก็จะเข้าตลาดช่วยดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งเกินไป ด้วยการขายเงินบาทออกมา รับเงินตราต่างประเทศเข้ากระเป๋าไป
ไม่น่าแปลกใจว่า ช่วงเงินบาทแข็ง จึงเป็นช่วงที่แบงก์ชาติมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บางสัปดาห์ เงินสำรองระหว่างประเทศอาจจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 3-4 พันล้านดอลลาร์สรอ.
ในส่วนนี้ แบงก์ชาติก็มักจะหาทางดูดเงินบาทกลับไป เพื่อไม่ให้เงินบาทท่วมระบบ ส่วนหนึ่งทำโดยการออกพันธบัตร ดังนั้น พันธบัตร ธปท. ในระบบ จึงเพิ่มขึ้นจากต้นปี 49 ที่มีอยู่เพียง 6 แสนล้านบาทเป็นประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท เรียกได้ว่า ข้างหนึ่งธปท. มีสินทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่อีกข้างก็มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ด้านที่สาม – มาจากดอกผลของสินทรัพย์ต่างประเทศที่แบงก์ชาติมีอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยจากพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศที่ไปลงทุน และได้เก็บสะสมงอกเงยขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยช่วงแรก ๆ ที่เราไม่ได้มีหนี้มาก ดอกผลที่ได้ก็มาก แต่ช่วงหลัง ๆ ที่แบงก์ชาติต้องออกพันธบัตร ธปท. เพื่อดูดสภาพคล่องกลับคืนเป็นจำนวนมาก ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายออกไปอีกข้างก็มากเช่นกัน ซึ่งต้องนำไปหักลบกับดอกผลที่ได้จากการไปลงทุนในต่างประเทศ
ท้ายสุด ยังมีเงินบริจาคจากท่านหลวงตามหาบัว ที่ได้กรุณานำเงินและทองจากทุกคน มาบริจาคต่อให้แบงก์ชาติเพื่อเป็นเงินก้นถุงให้กับเงินทุนสำรองระหว่าง ประเทศของไทย นับเป็นทองคำ 13 ตัน เงินอีก 10 ล้านดอลลาร์
ด้วยเหตุนี้ การที่ทุกคนเข้าใจกันว่า แบงก์ชาติรวยมากนั้น จึงไม่เป็นความจริง สินทรัพย์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เป็นเงินที่ยืมเขามาทั้งนั้น ซึ่งประเด็นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร เพราะถ้าเราลองคิดดูดี ๆ ก็จะพบว่า แบงก์ชาติไม่ได้ทำมาหาได้ด้วยกิจการอะไร ไม่มีธุรกิจเป็นของตนเอง การที่จะสามารถมีสินทรัพย์ต่างประเทศสะสมเป็นเงินถึง 6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นปีละ 9 แสนล้านบาท ร่ำรวยอย่างมหาศาลในสายตาทุกคน ก็เกิดได้ด้วยจากวิธีการเดียวเท่านั้นคือ “ยืมเขามา” จากการดูแลค่าเงินบาทบ้าง จากการพิมพ์ธนบัตรบ้าง
ซึ่งเมื่อเป็นการยืมเขามา สินทรัพย์เหล่านี้ต่างเป็นเงินที่มีเจ้าของ จึงกล่าวได้ว่า “แบงก์ชาติไม่ได้รวยจริง ไม่ได้มีมากอย่างที่คิด” การจะตัดเงินสำรองระหว่างประเทศออกมา จัดตั้งเป็นเงินกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกับกรณีของประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งรวยจริง มีเงินจริงจากการขายน้ำมัน และได้ตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติกันแล้วในหลาย ๆ ประเทศ บางประเทศก็มีหลายกอง ก็ขอเอาใจช่วยทุกคนในเรื่องนี้ ให้มีคำตอบที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น