คุณเคยสงสัยเรื่องเสียงหัวเราะบ้างหรือเปล่า ทำไมคนเราถึงเปล่งเสียงแปลกๆ เหล่านั้นออกมา เสียงเหล่านั้นมีความหมายว่าอะไร เสียงหัวเราะหึๆ นั้นมาจากไหน นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่มันเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และน่าสนใจมากทีเดียว
เรามักคิดกันเอาเองว่า การหัวเราะเป็นพัฒนาการขั้นสูงของมนุษย์ สมองของเราทำให้เรารู้สึกสนุกเมื่อมีการเล่นหรือผวนคำแบบต่างๆ แม้ว่าการคิด มุขตลกจะคิดได้เฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่การหัวเราะหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมทั้งลิงชิมแปนซี กอริลลา หรือแม้แต่หนูก็หัวเราะได้ ถึงแม้ว่าสัตว์เหล่านี้จะไม่ขำกับมุขตลกของโฮเมอร์ ซิมสัน (การ์ตูนตลกเสียดสีของคนอเมริกัน-ผู้แปล) แต่พวกมันก็หัวเราะกันมาช้านานกว่ามนุษย์เสียอีก สิ่งนี้ชี้ให้เห็นจุดกำเนิดของการหัวเราะ ว่ามีอะไรมากกว่าที่คุณคาดคิด
เราอาจจะรู้ว่าอะไรทำให้เราขำจนท้องคัดท้องแข็ง แต่การที่จะรู้ว่าเพราะอะไรคนเราจึงหัวเราะนั้น กลับเป็นปัญหาที่ยากจะหาคำตอบ
แทบจะไม่ต้องสงสัยเลยว่า การหัวเราะเป็นกิจกรรมทางสังคม “เสียงหัวเราะเป็นเสมือนสัญญาณส่งผ่านไปยังผู้อื่น และถ้าคนเราอยู่เพียงลำพัง เสียงหัวเราะนั้นก็มลายหายไป” โรเบิร์ต โพรวีน นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ผู้แต่งหนังสือ Laughter: A scientific investigation กล่าว และเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานวิจัยชิ้นแรกที่ทำการศึกษาอย่างจริงจังในการ ค้นหาว่าอะไรทำให้มนุษย์เราหัวเราะ โพรวีนพบว่า โดยทั่วไปแล้วเสียงหัวเราะเกิดจากการตอบสนองอย่างสุภาพต่อเรื่องที่คนเราพูด คุยกันทั่วไป อย่างเช่น “มันต้อง เกิดขึ้นแน่” มากกว่าเรื่องตลกอื่นๆ จากการสังเกตของคณะศึกษาอีกกลุ่มก็พบว่า เสียงหัวเราะทำหน้าที่เสมือนเป็นกาวสมานทางสังคม อย่างเด็กทารกจะเริ่มขำเมื่อมีอายุได้ประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเริ่มจะแยกแยะและจดจำใบหน้าของแต่ละคนได้ และวิธีที่คนเราหัวเราะก็ขึ้นอยู่กับกลุ่ม เพื่อนที่เราอยู่ด้วย อย่างพวกผู้ชายมักจะหัวเราะยาวๆ ดังๆ เมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนผู้ชายด้วยกัน บางทีการหัวเราะแบบนี้เป็นการสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน ส่วนผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะหัวเราะเสียงแหลมและหัวเราะบ่อยขึ้นเมื่ออยู่ต่อ หน้าเพศตรงข้าม ซึ่งอาจแสดงถึงความสนใจต่อเพศตรงข้าม หรือแสดงการยอมรับในอำนาจของอีกฝ่าย
โดยทั่วไป สิ่งที่ทำให้คนเราหัวเราะก็คือ การเล่นคำ แต่หากต้องการค้นหาต้นกำเนิดของการหัวเราะจริงๆ เราคงต้องค้นให้ลึกกว่านี้อีก โพรวีนพบว่า กุญแจสำคัญของการหัวเราะอยู่ที่การเล่น เขาคิดว่าผู้ที่เป็นเจ้าแห่งเสียงหัวเราะก็คือเด็กๆ และจะเห็นเด็กๆ หัวเราะได้อย่างชัดเจนก็ตอนที่พวกเขากำลังเล่นโหวกเหวกเสียงดังอย่างไม่มี กติกาใดๆ เขากล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของการหัวเราะคือการจี้ ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ที่การเล่น” การหัวเราะประกอบกับการเล่นนี้ช่วยย้อนเวลากลับไปหาบรรพบุรุษของเรา โพรวีน กล่าวอีกว่า “เมื่อจี้ลิงชิมแปนซี มันจะมีใบหน้าที่อารมณ์ดีและเปล่งเสียงออกมา” เสียงหัวเราะของมันจะมีลักษณะเหมือน เสียงลมหายใจหอบทางปาก
ผู้สังเกตสิ่งมีชีวิตพวกไพรเมตที่มีชื่อเสียงอย่าง ไดแอน ฟอสซี และ เจน กูดออล ได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า ลิงชิมแปนซีหัวเราะขณะที่มีการเล่น และลิงชิมแปนซีก็มีจุดขำเช่นเดียวกับคนเรา แต่ลักษณะของเสียงหัวเราะระหว่างคนกับลิงก็ยังเปรียบเทียบกันไม่ได้ โพรวีน เคยทดสอบโดยให้นักศึกษา 119 คน ของเขาฟังเสียงหัวเราะแบบพ่นลมทางปากจากเทปบันทึก มีนักศึกษาเพียงสองคนเท่านั้นที่ตอบถูกว่าเสียงที่ได้ยินเป็นเสียงสัตว์อะไร ส่วนนักศึกษาที่เหลือตอบว่าเป็นเสียงหายใจทางปาก บ้างก็ตอบว่าเป็นเสียงเลื่อยกำลังเลื่อย
ความแตกต่างหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนระหว่างการหัวเราะของคนกับลิงชิมแปนซีก็คือ เวลาที่คนหัวเราะ เสียงหัวเราะจะเกิดจากการแบ่งลมหายใจหนึ่งครั้งออกเป็นช่วงๆ เป็นเสียงฮะ ฮะ ฮ่า ในขณะที่ลิงชิมแปนซีไม่สามารถควบคุมจังหวะการหายใจได้ เสียงหัวเราะของมันแต่ละครั้งจะเป็นเสียงที่เกิดจากการหายใจเข้าหรือออกแต่ละครั้ง สิ่งที่น่าสงสัยก็คือ การหัวเราะหอบทางปากของสัตว์กับการหัวเราะของคนนั้นมีจุดกำเนิดเดียวกันหรือไม่
งานวิจัยชิ้นใหม่ๆ มีแนวโน้มที่สนับสนุนว่า สิ่งที่ทำให้คนและสัตว์หัวเราะนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน การค้นพบนี้เป็นผลงานของ เอลค์ ซิมเมอร์แมน หัวหน้าสถาบันสัตววิทยาแห่งคณะสัตวแพทยศาสตร์ฮานโนเวอร์ ในประเทศเยอรมนี เขาได้เปรียบเทียบเสียงที่เกิดจากการตอบสนองต่อการจั๊กกะจี้ของเด็กทารกและโบโนโบ (bonobo เป็นลิงชิมแปนซีชนิดหนึ่ง มีขนาดเล็กกว่า ขนสีดำ เรียกอีกอย่างว่า ชิมแปนซี ปิ๊กมี่ - กองบ.ก.) ในช่วงเวลาขวบปีแรก โดยใช้เครื่องสเปกโตรกราฟวัดระดับความสูงของเสียง เธอพบว่าทั้งโบโนโบและเด็กทารกมีรูปแบบการหัวเราะที่ เหมือนกัน แต่มีระดับเสียงที่แตกต่างกัน โดยโบโนโบมีระดับเสียงที่สูงกว่า
ซิมเมอร์แมนเชื่อว่า ความคล้ายคลึงกันระหว่างเสียงหัวเราะของโบโนโบและเด็กทารก สนับสนุนความคิดที่ว่า การหัวเราะถือกำเนิดขึ้นมายาวนานกว่าที่มนุษย์เราจะอุบัติขึ้นมาบนโลกนี้เสียอีก โพรวีนยังยืนยันอีกว่า “เสียงหัวเราะฟืดฟาดของลิงชิมแปนซีได้กลายมาเป็นเสียงหัวเราะฮะฮ่าของคน” และจุดเริ่มต้นในการปรับจังหวะผ่อนลมหายใจเกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์ที่สนุกสนาน และบ่งบอกถึงความพึงพอใจ เขาสรุปว่า “เสียงหัวเราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเล่น และมันอาจเป็นตัวอย่างที่ดีว่า เสียงหัวเราะของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดนั้นมีวิวัฒนาการมาได้อย่างไร”
ผู้ที่เป็นเจ้าแห่งเสียงหัวเราะก็คือเด็กๆ และจะเห็นเด็กๆ หัวเราะได้อย่างชัดเจนก็ตอนที่พวกเขากำลังเล่นโหวกเหวกเสียงดังอย่างไม่มี กติกาใดๆ
การค้นหาว่าการหัวเราะเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้นเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ คนและลิงชิมแปนซีมีบรรพบุรุษร่วมกันมาไม่ต่ำกว่า 8 ล้านปี แต่สัตว์ชนิดอื่นๆ อาจจะหัวเราะเสียงดังมาก่อนหน้านั้นก็เป็นได้ สัตว์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกไพรเมต รวมทั้งลิงกอริลลานั้นก็หัวเราะ มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่าพวก แคนิดส์ (canids สัตว์กินเนื้อวงศ์ สุนัข-กองบ.ก.) และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่กันเป็นกลุ่มก็หัวเราะเป็นด้วย
ซิมเมอร์แมนกับเพื่อนร่วมงานของเธอได้ทดสอบในเรื่องนี้โดยการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบว่า การหัวเราะในหมู่ฝูงสัตว์เกิดขึ้นได้อย่างไร จวบจนทุกวันนี้หลักฐานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับ การหัวเราะของสัตว์นอกเหนือจากกลุ่มไพรเมต มาจากการศึกษาของ เจก แพงค์เซปป์ จากมหาวิทยาลัยโบว์ลิง- กรีนสเตต ในรัฐโอไฮโอ เขาได้ศึกษาเสียงร้องสูงแหลมและสั้นซึ่งมีความถี่เหนือเสียงของหนู ซึ่งหนูจะเปล่งเสียงนี้ขณะที่มันเล่น หรือถูกจี้ หากจะพิจารณาถึงบรรพบุรุษของหนูและคนก็จะพบว่า บรรพบุรุษร่วมระหว่างหนูและคนนั้นต่างมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 75 ล้านปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาที่มีอยู่ในตอนนี้ก็ยังมิได้ตอบคำถามที่ว่า เพราะอะไรคนเราจึงหัวเราะ ความจริงนักคิดผู้ยิ่งใหญ่อย่างเพลโต กาลิเลโอ และดาร์วิน ต่างก็เคยได้ขบคิดเรื่องนี้มาอย่างน้อยเมื่อสองพันปีที่แล้ว มีความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เสียงหัวเราะและการจั๊กกะจี้มีจุดกำเนิดมาจากการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก ส่วนความคิดอื่นๆ ในเรื่องนี้ก็เชื่อว่า เสียงหัวเราะเป็นปฏิกิริยาการตอบสนองแบบอัตโนมัติ (รีเฟลกซ์) ต่อการจั๊กกะจี้ ซึ่งเป็นการป้องกันตัว กระตุ้นให้คนเราเกิดความระมัดระวังต่อสัตว์ที่กำลังคลานอยู่ตรงหน้า ที่อาจทำอันตรายต่อเราได้ หรือเป็นการบังคับให้เราปกป้องอวัยวะบางส่วน เช่น ท้อง อันเป็นอวัยวะที่บอบบางและถูกทำอันตรายได้ง่ายเมื่อมีการต่อสู้กันด้วยมือเปล่า แต่ความคิดที่ได้รับการยอมรับในไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในหมู่นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการก็คือ การหัวเราะเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการจั๊กกะจี้ระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นสัญญาณแสดงถึงความไว้วางใจในกันและกัน
การจั๊กกะจี้เพียงเล็กน้อยจะทำให้เกิดความสนุกสนาน แต่ถ้าจั๊กกะจี้นานเกินไปก็ทำให้รู้สึกทรมานได้ ความจริงแล้วในยุคกลางจะใช้วิธีจั๊กกะจี้เป็นเครื่องมือในการทรมานนักโทษ
สมมติฐานนี้เริ่มจากการสังเกตว่า การจั๊กกะจี้เพียงเล็กน้อยจะทำให้เกิดความสนุกสนาน แต่ถ้าจั๊กกะจี้นานเกินไปก็ทำให้รู้สึกทรมานได้ ความจริงแล้วในยุคกลางจะใช้วิธีจั๊กกะจี้เป็นเครื่องมือในการทรมานนักโทษ ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าการจั๊กกะจี้จะทำให้เราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่เรากลับตอบสนองด้วยการหัวเราะ และแสดงสีหน้าที่บอกว่า “ช่วยจี้ต่อไป ฉันกำลังมีความสุข” การหัวเราะจึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเรารู้ว่า การจั๊กกะจี้นั้นมิใช่การทำร้ายกันแต่อย่างใด การหัวเราะโดยธรรมชาติเป็นสัญลักษณ์ของความ ไว้วางใจ ทอม แฟล็มสัน นักวิจัยเรื่องการหัวเราะแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองลอสแองเจลิส กล่าวว่า “การหัวเราะเป็นการแสดงโดยอัตโนมัติ และยากต่อการเสแสร้ง เป็นสัญลักษณ์แสดงความซื่อสัตย์”
มีข้อสงสัยที่ว่าการจั๊กกะจี้สร้างความไว้วางใจระหว่างผู้จี้กับผู้ถูกจี้ จริงหรือ แฟล็มสันกล่าวว่า “การยอมรับจะเกิดขึ้นตามมาทีหลัง ซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก เพราะมีผลการศึกษาในสัตว์ที่ไม่ใช่พวกไพรเมตในทำนองนี้ด้วยเช่นกัน” แม้แต่ในพวกหนู การหัวเราะ การจั๊กกะจี้ การเล่น และความไว้วางใจถือเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ แพงค์เซปป์ บอกว่า “หนูจะส่งเสียงแหลมสูงและสั้นแทบจะตลอดการเล่น และเสียงแหลมสูงและสั้นนี้สามารถกระตุ้นได้โดยการจั๊กกะจี้ หลังจากนั้น พวกหนูก็จะเริ่มคุ้นเคยและไว้วางใจคน”
เราไม่มีวันรู้ว่าสัตว์ชนิดใดที่หัวเราะ เป็นชนิดแรก และหัวเราะด้วยเหตุอันใด แต่เราก็มั่นใจว่าเสียงหัวเราะนั้นไม่ได้เกิดจากการตอบสนองต่อมุขตลกสมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์ มันเป็นเรื่องน่าขันที่ว่า จุดเริ่มต้นของการหัวเราะอาจเป็นเรื่องจริงจัง แต่เราก็เป็นหนี้บุญคุณต่อเรื่องตลกหรือการเล่นคำซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตัวของมนุษย์เรา ในขณะที่สัตว์ประเภทอื่น หัวเราะแบบฟืดฟาด มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวที่สามารถควบคุม ลมหายใจได้ดีพอที่จะทำเสียง ฮะ ฮะ ฮ่า ได้ แล้วการหัวเราะครั้งสุดท้ายจะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะหากไม่มีการควบคุมการหัวเราะ หรือมัวแต่หัวเราะอยู่ คนเราก็คงไม่มีโอกาสได้พูดคุยกันอย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น