วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

หัวใจ มาจากไหน

หัวใจ (อังกฤษ: Heart) ในกายวิภาคศาสตร์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง เป็นอวัยวะสำหรับการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆของร่างกายโดยอาศัยโครงสร้างของกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiac muscle) และระบบนำไฟฟ้า (conduction system) ภายในหัวใจซึ่งสร้างและควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ



หัวใจวางตัวอยู่ในบรินกลางของช่องอก ในบริเวณที่เรียกว่า เมดิแอสไตนัมส่วนกลาง (middle mediastinum) ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกขนาบข้างด้วยปอด และมีหลอดเลือดแดงใหญ่และหลอดอาหารวางอยู่ใต้หัวใจ นอกจากนี้หัวใจยังถูกห่อหุ้มโดยเยื่อบางๆ เรียกว่า เยื่อหุ้มหัวใจ (pericardium) ซึ่งช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้หัวใจยังมีระบบหลอดเลือดเฉพาะ ซึ่งเรียกว่า ระบบหลอดเลือดหัวใจ (coronary system) ซึ่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง

ในศัพท์ทางการแพทย์ หัวใจและโครงสร้างที่เกี่ยวกับหัวใจจะใช้คำ Cardio- มาจาก kardia ซึ่งหมายถึงหัวใจในภาษากรีก

โครงสร้างและพื้นผิวของหัวใจ

สำหรับในร่างกายมนุษย์ หัวใจจะวางตัวอยู่ในช่องอกและ เยื้องไปทางซ้ายเล็กน้อย ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ หัวใจจะมีน้ำหนักประมาณ 250-350 กรัม และมีขนาดประมาณสามในสี่ของกำปั้น แต่ในกรณีของผู้ป่วยโรคหัวใจโต (cardiac hypertrophy) น้ำหนักของหัวใจอาจมากถึง 1000 กรัม หัวใจคนเรานั้นมี4ห้องคือ2ห้องบนและ2ห้องล่าง

บนพื้นผิวของหัวใจจะมีร่องหัวใจ (cardiac grooves) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการวางตัวของหลอดเลือดหัวใจ ร่องหัวใจที่สำคัญได้แก่

* ร่องโคโรนารี (Coronary grooves) หรือร่องเอตริโอเวนตริคิวลาร์ (atrioventricular groove) เป็นร่องที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องบน (atria) และหัวใจห้องล่าง (ventricle) ร่องนี้จะเป็นที่วางตัวของแอ่งเลือดโคโรนารี (coronary sinus) ทางพื้นผิวด้านหลังของหัวใจ
* ร่องอินเตอร์เวนตริคิวลาร์ด้านหน้า (Anterior interventricular groove) เป็นร่องที่แบ่งระหว่างหัวใจห้องซ้ายและหัวใจห้องขวาทางด้านหน้า และจะมีแขนงใหญ่ของหลอดเลือดแดงโคโรนารีด้านซ้าย (left coronary artery) วางอยู่
* ร่องอินเตอร์เวนตริคิวลาร์ด้านหลัง (Posterior interventricular groove) เป็นร่องที่แบ่งหัวใจระหว่างห้องซ้ายและห้องขวาทางด้านหลัง ส่วนใหญ่จะพบว่ามีแขนงของหลอดเลือดแดงโคโรนารี

ผนังหัวใจ

ผนังของหัวใจประกอบด้วยเนื้อเยื่อสามชั้น ได้แก่

* เยื่อหุ้มหัวใจชั้นใน (Epicardium) เป็นชั้นที่ติดต่อกับเยื่อหุ้มหัวใจด้านที่ติดกับหัวใจ (Visceral layer of pericardium) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เหนียวและแข็งแรง
* กล้ามเนื้อหัวใจ (Myocardium) เป็นชั้นที่มีความหนามากที่สุด และประกอบด้วยกล้ามเนื้อหัวใจเกือบทั้งหมด
* เยื่อบุหัวใจ (Endocardium) เป็นชั้นบางๆที่เจริญมาจากเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด
ห้องหัวใจ

หัวใจจะถูกแบ่งออกเป็นสี่ห้อง (heart chambers) และทิศทางการไหลของเลือดเข้าสู่แต่ละห้องจะถูกควบคุมโดยลิ้นหัวใจ (cardiac valves) ทำให้เลือดไม่ไหลย้อนเมื่อมีการบีบตัวและคลายตัว ในที่นี้จะกล่าวถึงห้องของหัวใจตามลำดับของการไหลของเลือดภายในหัวใจ

หัวใจห้องบนขวา

หัวใจห้องบนขวา (Right atrium) มีหน้าที่รับเลือดที่มาจากหลอดเลือดดำใหญ่ซุพีเรียเวนาคาวา (superior vena cava) ซึ่งรับเลือดมาจากร่างกายส่วนบน และหลอดเลือดดำใหญ่อินฟีเรียร์เวนาคาวา (Inferior vena cava) รับเลือดมาจากร่างกายช่วงล่าง ผนังของหัวใจห้องนี้ค่อนข้างบาง โดยเฉพาะทางด้านที่ติดกับหัวใจห้องบนซ้าย จะมีรอยบุ๋มที่เรียกว่า ฟอซซา โอวาเล (Fossa ovale) ซึ่งเป็นทางเชื่อมระหว่างหัวใจห้องบนทั้งสองห้องระหว่างที่อยู่ในครรภ์ โดยปกติจะไม่มีช่องเปิดใดๆ แต่ในกรณีที่รอยบุ๋มดังกล่าวนี้ยังคงเหลือช่องเปิดอยู่ อาจทำให้การไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจผิดปกติได้ เลือดจากหัวใจห้องบนขวาจะไหลเข้าสู่หัวใจห้องล่างขวา ผ่านทางลิ้นหัวใจไทรคัสปิด (Tricuspid valve)

หัวใจห้องล่างขวา

หัวใจห้องล่างขวา (Right ventricle) จะอยู่ทางด้านหน้าสุดของหัวใจ และพื้นผิวทางด้านหลังของหัวใจห้องนี้จะติดกับกะบังลม หัวใจห้องล่างขวาทำหน้าที่รับเลือดจากหัวใจห้องบนขวา แล้วส่งออกไปยังปอด ผ่านลิ้นหัวใจพัลโมนารี (pulmonary valve) และหลอดเลือดแดงพัลโมนารี (pulmonary arteries) ที่ผนังของหัวใจห้องที่จะมีแนวของกล้ามเนื้อหัวใจที่สานต่อกัน และมีเอ็นเล็กๆที่ควบคุมลิ้นหัวใจไทรคัสปิด ซึ่งเรียกว่า คอร์ดี เท็นดินี (chordae tendinae) ซึ่งทำหน้าที่ยึดลิ้นหัวใจไทรคัสปิดไม่ให้ตลบขึ้นไปทางหัวใจห้องบนขวา ระหว่างการบีบตัวของหัวใจห้องล่าง ดังนั้นจึงป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ

หัวใจห้องบนซ้าย

หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrium) มีขนาดเล็กที่สุดในห้องหัวใจทั้งสี่ห้อง และวางตัวอยู่ทางด้านหลังสุด โดยหัวใจห้องนี้จะรับเลือดที่ได้รับออกซิเจนจากปอดผ่านทางหลอดเลือดแดงพัลโมนารี (pulmonary veins) และจึงส่งผ่านให้หัวใจห้องล่างซ้ายทางลิ้นไมทรัล (Mitral valve)

หัวใจห้องล่างซ้าย

หัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) จัดว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดและมีผนังหนาที่สุด ทำหน้าที่หลักในการสูบฉีดเลือดไปยังทั่วทั้งร่างกายผ่านทางลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic valve) และหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (Aorta)

ลิ้นหัวใจ

ลิ้นหัวใจเป็นแผ่นของกล้ามเนื้อหัวใจและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่แข็งแรงที่ยื่นออกมาจากผนังของหัวใจ เพื่อควบคุมทิศทางการไหลของเลือดภายในหัวใจ ให้เป็นไปในทิศทางเดียว โดยอาศัยความแตกต่างของความดันโลหิตในแต่ละห้อง ลิ้นหัวใจที่สำคัญได้แก่

* ลิ้นหัวใจไทรคัสปิด (Tricuspid valve) มีสามกลีบ (cusps) อยู่ระหว่างหัวใจห้องบนขวาและล่างขวา
* ลิ้นไมทรัล (Mitral valve) มีสองกลีบ บางครั้งจึงเรียกว่า ลิ้นหัวใจไบคัสปิด (bicuspid valve) อยู่ระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้าย
* ลิ้นหัวใจพัลโมนารีเซมิลูนาร์ (pulmonary semilunar valve) มีสามกลีบ อยู่ระหว่างหัวใจห้องล่างขวาและหลอดเลือดแดงพัลโมนารี
* ลิ้นหัวใจเอออร์ติกเซมิลูนาร์ (Aortic semilunar valve) มีสามกลีบ อยู่ระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดแดงใหญ่ ใกล้ๆกับโคนของลิ้นหัวใจนี้จะมีรูเปิดเล็กๆ ซึ่งเป็นทางเข้าของเลือดที่จะเข้าสู่ระบบหลอดเลือดหัวใจ


ระบบนำไฟฟ้าของหัวใจ

คุณสมบัติประการหนึ่งที่น่าสนใจของหัวใจ คือการที่กล้ามเนื้อหัวใจสามารถ กระตุ้นการทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยอาศัยระบบนำไฟฟ้า (conduction system) ภายในผนังของหัวใจ โครงสร้างที่สำคัญของระบบนำไฟฟ้าของหัวใจได้แก่

* ไซโนเอเตรียลโนด (Sinaoatrial node) หรือเอสเอโนด (SA node) เป็นกลุ่มของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่มีการเปลี่ยนรูปไปเป็นเซลล์ของระบบนำ ไฟฟ้า โดยอยู่ในผนังของหัวใจห้องบนขวา เอสเอโนดทำหน้าที่เป็นตัวเริ่มต้นในการส่งกระแสไฟฟ้าไปตามกล้ามเนื้อหัวใจ ห้องบน ด้วยความถี่ประมาณ 60-70 ครั้งต่อนาที
* เอตริโอเวนตริคิวลาร์โนด (Atrioventricular node) หรือเอวีโนด (AV node) อยู่ระหว่างหัวใจห้องบนและห้องล่าง โดยจะรับกระแสไฟฟ้าที่ส่งมาตามหัวใจห้องบน แล้วจึงนำกระแสไฟฟ้าส่งลงไปยังหัวใจห้องล่างผ่านทางเส้นใยนำไฟฟ้าที่อยู่ใน ผนังกั้นหัวใจห้องล่างขวาและล่างซ้าย ซึ่งเรียกว่า บันเดิล ออฟ ฮิส (Bundle of His) และนำกระแสไฟฟ้าเข้าสู่หัวใจห้องล่างทางเส้นใยปัวคินเจ (Purkinje fiber) นอกจากนี้ในกรณีที่เอสเอโนดไม่สามารถกระตุ้นหัวใจได้ เอวีโนดจะทำหน้าที่เป็นตัวเริ่มต้นแทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น