วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แสตมป์มาจากไหน



แสตมป์ หรือ ตราไปรษณียากร (Postage stamp หรือ Stamp) เป็นหลักฐานการชำระค่าบริการไปรษณีย์ มักเป็นกระดาษรูปสี่เหลี่ยมเพื่อติดบนซองจดหมาย แสตมป์ที่มีรูปร่างหรือทำจากวัสดุอื่นก็มีปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง

แสตมป์มักพิมพ์ออกเป็นแผ่น ประกอบด้วยแสตมป์หลายดวง ปกติอยู่ระหว่าง 20 ถึง 120 ดวง มีการปรุรู รอบดวงแสตมป์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการฉีก รอยฉีกที่ได้เรียกว่า ฟันแสตมป์ ด้านหลังแสตมป์มีกาวเคลือบอยู่ กระดาษที่ใช้พิมพ์มักมีสิ่งพิเศษไว้เพื่อป้องกันการปลอมแปลง เช่น ลายน้ำ (watermark) หรือ ด้ายสี

หากติดแสตมป์เพื่อใช้งานบนซองแล้ว ต้องมีการประทับตราทุกครั้ง เพื่อป้องกันการนำกลับมาใช้อีก
การสะสมแสตมป์เป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

แนวคิดเรื่องการใช้แสตมป์เป็นค่าไปรษณีย์ริเริ่มโดยนาย เจมส์ ชาลเมอส์ (James Chalmers) ชาวสกอตแลนด์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2377 (ค.ศ. 1834) ซึ่งความคิดดังกล่าวก็ได้รับการยอมรับต่อมาใน พ.ศ. 2382 ภายใต้การผลักดันของ เซอร์ โรว์แลนด์ ฮิลล์ (Sir Rowland Hill) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2383 ก็ได้ออกแสตมป์ดวงแรกของโลกคือ แสตมป์เพนนีแบล็ค (Penny Black) มีราคาหน้าดวง 1 เพนนี ซึ่งเป็นอัตราค่าไปรษณีย์สำหรับจดหมาย สามารถส่งได้ทุกปลายแห่งด้วยอัตราเดียวกันและเริ่มมีผลบังคับใช้ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2383 เนื่องจากสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ออกแสตมป์ สหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union หรือ UPU) กำหนดให้สหราชอาณาจักรเป็นชาติเดียวที่ยกเว้นไม่ต้องพิมพ์ชื่อประเทศบนดวงแสตมป์ดังเช่นของประเทศอื่นๆ

แสตมป์ชุดแรกของไทย คือ แสตมป์ชุดที่หนึ่ง หรือ ชุดโสฬศ ออกเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ประกอบด้วยแสตมป์ราคา หนึ่งโสฬส (ครึ่งอัฐ) , หนึ่งอัฐ, หนึ่งเสี้ยว (สองอัฐ) , หนึ่งซีก (สี่อัฐ) , หนึ่งสลึง (สิบหกอัฐ) แสตมป์อีกดวงราคาหนึ่งเฟื้อง (แปดอัฐ) มาถึงล่าช้าและไม่มีการใช้งานจริงทางไปรษณีย์ แสตมป์ชุดนี้ออกแบบและพิมพ์ที่บริษัท วอเตอร์โลว์แอนด์ซันส์ (Waterlow and Sons) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในช่วงนั้นไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ แสตมป์ชุดนี้จึงยังไม่มีชื่อประเทศปรากฏบนดวง ส่วนแสตมป์ที่สั่งพิมพ์ชุดต่อๆ มาเป็นไปตามกฎของสหภาพสากลไปรษณีย์ กล่าวคือ มี ชื่อประเทศและราคาในภาษาอังกฤษ และ มีคำว่า "postage" ซึ่งหมายถึงเป็นการชำระค่าไปรษณีย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น