วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อาหารมาจากไหน

 อาหารมาจากไหน



 เมื่อนึกถึง “อาหาร” เรามักนึกถึงอาหารเป็นจานๆ 

เมื่อนึกถึง “สถานที่ประกอบอาหาร” เราเห็นภาพแม่ค้าหาบเร่ แผงลอย รถเข็นขายก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหารตามสั่ง และภัตตราคารสารพัดรูปแบบที่มีอยู่แทบทุกย่างก้าว มากกว่าเห็นภาพตัวเองหน้ามันย่องทำกับข้าวอยู่ในครัว

เมื่อนึกถึง “แหล่งที่มาของอาหารสด” คนสมัยนี้น่าจะคิดถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กขนาดใหญ่ติดแอร์เย็นฉ่ำ มากกว่าคิดถึงตลาดสด แผงขายหมู ขายปลา ขายผัก ขายของชำของแห้ง
“เวลาและระยะทางของการได้มาซึ่งอาหาร” ถูกบีบอัดให้หดแคบเข้าอยู่แถวๆ ร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ใกล้บ้าน

ชีวิตสำเร็จรูปของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ห่างไกลจาก “ต้นทางอาหาร” มากขึ้นทุกที เราแทบนึกไม่ออกแล้วว่า ข้าวเปลือก ข้าวสาร พืชผัก เนื้อสัตว์ต่างๆ ที่นำมาปรุงเป็นอาหารในจานนั้น ผลิตมาจากไหน ใครเป็นคนผลิต ผลิตอย่างไร 

เมื่อจินตนาการถึงต้นทางอาหารถูกตัดทอนให้ สั้นเหลือแค่ระยะทางจากตู้เย็นถึงไมโครเวฟ จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าผู้ผลิตอาหารที่รากหญ้าตกอยู่ในสภาพอย่างไร จะอยู่รอดผลิตอาหารอันหลากหลายให้เราไปได้นานแค่ไหน ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศอันเป็นแหล่งที่มาของอาหารนั้นอยู่ในภาวะวิกฤติขนาดไหน

 อาหารมาจากฐานทรัพยากร

รากฐานซึ่งประกอบขึ้นเป็นระบบอาหารของเรานั้น  ได้แก่
  1. ฐานทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ดิน น้ำ ป่าไม้ และความหลายหลายทางชีวภาพ หรือความหลากหลายทางพันธุกรรม
  2. ฐานระบบการผลิต รูปแบบหรือเทคโนโลยีในการผลิต
  3. ฐานผู้ผลิต หรือเกษตรกรชาวนาชาวไร่ขนาดเล็กขนาดย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
  4. ฐานวัฒนธรรมอาหาร อันได้แก่ วิถีการกินที่หลากหลายตามลักษณะนิเวศแต่ละท้องถิ่น เช่น ผักพื้นบ้าน ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาในการกินที่สืบทอดปรับประยุกต์กันมาแต่ครั้งพ่อแม่ปู่ ย่าตายาย

 ฐานทรัพยากรอาหารกำลังวิกฤต

การพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย การปฏิวัติเขียว ได้นำความเสื่อมโทรม ล่มสลายสู่ฐานทรัพยากรอาหารของเรา
ฐานทรัพยากรเสื่อมโทรม ฐานป่าไม้ถูกทำลายในอัตราเร่ง ดินที่อุดมสมบูรณ์เสื่อมและแข็งกระด้างจากการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นเวลายาวนาน  เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในระบบนิเวศน์  และห่วงโซ่อาหารทางธรรมชาติ  สูญเสียทรัพยากรพันธุกรรมความหลากหลายทางชีวภาพ
ระบบการผลิตพึ่งพาและมีราคาแพง ระบบการผลิตระยะ 40-50 ปีที่ผ่านมา เราได้เปลี่ยนแปลงระบบเกษตรของเราเป็น ระบบการผลิตที่เรียกว่า “สมัยใหม่” หรือ “ก้าวหน้า” คือการพัฒนาสายพันธุ์ให้ผลผลิตสูง พันธุ์ลูกผสมที่เป็นหมัน และใช้สารเคมีทางการเกษตรแบบเข้มข้น และเปลี่ยนเข้าสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น เป็นการที่พึ่งพาภายนอกและมีต้นทุนสูงขึ้นทุกที ที่ร้ายไปกว่านั้นคือพื้นที่การผลิตอาหารถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่พืชพลังงาน มากขึ้น

เกษตรกรรายย่อยไปไม่รอด

ขณะที่ตัวผู้ผลิตคือเกษตรกรรายย่อย ที่ทำกสิกรรมที่ดำรงความหลากหลายของอาหารและทรัพยากรพันธุกรรมซึ่งเป็นมิตร ต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเผชิญภาวะวิกฤต  ต้องประสบปัญหาหนี้สินเรื้อรัง จากการเดินตามการพัฒนาเกษตรแผนใหม่ กู้ยืมมาลงทุนเพิ่มผลผลิต ขณะที่ต้นทุนการผลิตมีแต่จะสูงขึ้น แต่ราคาสินค้าเกษตรที่ผ่านมามีความแปรปรวนสูงและส่วนใหญ่ราคาตกต่ำ ที่ดินเกษตรกรติดจำนำจำนอง บ้างก็ขายใช้หนี้ไปแล้ว เกษตรกรจำนวนมากพากันละทิ้งภาคเกษตรสู่เมืองและอุตสาหกรรม ลูกหลานขาดความภูมิใจในอาชีพเกษตรกร

สูญเสียวัฒนธรรมอาหาร   บรรษัทอุตสาหกรรม เกษตร และบรรษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้เข้ามากำหนดอาหารที่เรากินมากขึ้นทุกที  ด้วยการผูกขาดในห่วงโซ่การผลิตและการค้า ครอบงำทางวัฒนธรรมในการบริโภคอาหารและการผลิตอาหารที่ลดทอนวิถีการบริโภคแบบ เดิม  รูปแบบการบริโภคอาหารแบบใหม่  นับตั้งแต่อาหารปรุงสำเร็จในศูนย์การค้า อาหารพร้อมปรุงโดยใช้ไมโครเวฟ อาหารจากร้านสะดวกซื้อ  อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารในระบบแฟรนไชส์ ขยายตัวมากขึ้นเป็นลำดับ คนรุ่นลูกรุ่นหลานเรา รู้จักแฮมเบอเกอร์ พิซซ่า หรือกินผักจีนไม่กี่ชนิด ขณะที่เกษตรกรรายย่อยล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็ว

เราต้องการให้ใครผลิตอาหารให้เรา

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องถามตัวเองว่าเราต้องการระบบอาหารแบบไหน และหากเราเลือกที่จะกินอาหารจากระบบขนาดเล็ก ไม่ใช่ระบบอุตสาหกรรม เราคงต้องเริ่มจากการตั้งสติคิดทุกครั้งว่าอาหารที่เรากินนั้นมาจากไหน ทำความเข้าใจว่าฐานทรัพยากรอาหารนั้นมีความสำคัญ ต้องช่วยกันรักษาและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่ทำการผลิตแบบเป็นมิตรกับสิ่ง แวดล้อม
เราจำเป็นต้องรื้อฟื้นวัฒนธรรมการกินแบบที่พ่อแม่เลี้ยงเรามา และสอนลูกสอนหลานให้รู้จักเลือก รู้จักกิน หากเราไม่สามารถรักษาวัฒนธรรมอาหารแบบเดิมไว้ได้  เราก็ไม่สามารถรักษาฐานการผลิต ผู้ผลิตที่เป็นผู้ผลิตรายย่อยแบบดั้งเดิม ซึ่งผลิตจากระบบเกษตรกรรมขนาดเล็ก ผลิตอาหารซึ่งมีความหลากหลาย สดใหม่ ไม่ต้องใช้สารปรุงแต่ง เป็นมิตรกับผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น