วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เงิน มาจากไหน

ปัญหาใหญ่ที่สุดของบรรดาครูบาอาจารย์และนักวิชาการก็คือ การทึกทักเอาว่านักเรียน นักศึกษา ลูกศิษย์ และผู้อ่าน ผู้ฟัง มีความรู้พื้นฐานแน่นเปรี๊ยะ ดังนั้นเมื่อเวลาท่านเอ่ยอ้างอะไรเป็นบางส่วนออกไปแล้ว ผู้ที่อ่านหรือฟัง ก็สามารถต่อเติมเต็มเข้าใจได้เป็นอย่างดี อาทิ อ้างถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, เมษาฮาวาย, กบฏไม่มาตามนัด, วิภาษวิธีของมาร์กซ์, อุปสงค์-อุปทาน, วิกฤต, องคาพยพ, ประชาพิจารณ์, บูรณาการ, ประชาสังคม, ศีลข้อที่ 2, แผนยุทธศาสตร์, กระบวนทัศน์, บริบท, ทุนทางสังคม ฯลฯ



แต่ในความเป็นจริงนั้น คนส่วนใหญ่เขาไม่รู้เรื่องที่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิทั้งปวงทั้งพูดทั้งเขียนเลย หากแต่คนไทยส่วนใหญ่ได้รับการสั่งสอนอบรมมา (โดยไม้เรียว) ไม่ให้ถามครูอาจารย์มาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาแล้ว ผู้อ่านและผู้ฟังชาวไทยจึงเป็นผู้อ่านและผู้ฟังที่สงบเงียบเรียบร้อยที่สุดในโลก

ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่ว่า แม้แต่เงินที่เราจับจ่ายใช้สอยกันอยู่ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเลยว่ามันคืออะไร?

จริงๆ นะ เอาพวกเรียนมหาวิทยาลัยนี่แหละ ส่วนใหญ่ยังเชื่อกันอยู่ว่าเงินประเภทกระดาษที่เรียกว่าธนบัตร ที่เป็นกระดาษเปื้อนหมึกนั้นมีทองคำหนุนหลังอยู่ ทั้งๆ ที่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นกันมาแล้ว ยิ่งพวกเรียนอนุปริญญาทางการเงินมายิ่งเชื่อเช่นนั้นแทบทุกคน ทั้งๆ ที่การมีทองคำหนุนหลังธนบัตรนั้น เขาเลิกไปเกือบสี่สิบปีแล้ว

เอาละแม้ว่าเราจะยังยอมรับเอากระดาษที่เป็นธนบัตรกับเหรียญกษาปณ์มาเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน แบบว่ายอมรับว่าเป็นเงินจริงๆ ก็ยังเป็นเรื่องตลกเหลือเชื่ออีกนะ

ผู้เขียนขอยกตัวเลขที่ศาสตราจารย์จอห์น สโลแมน (John Sloman) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ชี้ให้เห็นถึงปริมาณเงินในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เมื่อกลางเดือนตุลาคม พ.ศ.2551 นี้ว่ามีเงินที่เป็นกระดาษ และเหรียญกษาปณ์อยู่ห้าหมื่นล้านปอนด์ ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในกระแสหมุนเวียนของคนที่ใช้เงินสดอยู่ประจำวัน สี่หมื่นสามพันล้านปอนด์ ส่วนอีกเจ็ดพันล้านปอนด์นั้นอยู่ในธนาคารและเครื่องเอทีเอ็ม

ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่า ธนาคารได้สร้างตัวเลขจากเจ็ดพันล้านปอนด์ขึ้นเป็นตัวเลขถึงหนึ่งพันแปดร้อยพันล้านปอนด์ (ขออภัยที่ใช้ตัวเขียน เพราะตัวเลขมันเยอะเหลือเกิน) พูดง่ายๆ ฟังกันชัดๆ คือ ธนาคารสร้างตัวเลขจำนวนเงิน เพิ่มขึ้นมาจากที่ธนาคาร มีเป็นธนบัตรอยู่จริงถึง 257 เท่า (เฉพาะในประเทศสหราชอาณาจักรประเทศเดียวนะ)

ทีนี้ท่านผู้อ่านคงไม่สงสัยแล้วนะว่าทำไมจึงมีคนอยากจะสร้างธนาคารกันนัก!

คราวนี้ก็ต้องอธิบายว่า พวกธนาคารเขาเล่นกลอย่างนี้ได้อย่างไร?

คำตอบก็คือ เงินซึ่งเราเห็นเป็นตัวธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์นั้นเป็นเพียงส่วนประกอบที่เล็กมากๆ ในระบบการเงินการธนาคารและระบบเศรษฐกิจทั้งหมด

เงินเป็นสื่อของการแลกเปลี่ยน เมื่อคนเราซื้อของใหญ่ๆ หรือบางทีของเล็กๆ ที่มีราคาสูง เรามักไม่ใช้เงินสด เนื่องจากการพกเงินสดติดตัวเยอะๆ นี่อันตรายนะ (เห็นจากทีวีที่คนไทยขนเงินสดจำนวนมากไปซื้อทองแท่งที่เยาวราช แล้วหวาดเสียวแทนจริงๆ) อย่างที่คุณหญิงพจมานซื้อที่ดินรัชดาฯที่มีราคา 700 กว่าล้านบาทนั้น ก็ชำระเงินเป็นเช็คไม่ใช่เงินสดหรอก ดังนั้นจึงไม่มีธนบัตรจริงเปลี่ยนมือกันเลย หากแต่เป็นการปรับตัวเลขในบัญชีเงินฝากในธนาคารของผู้ซื้อและผู้ขายที่ดินเท่านั้น

ประชาชนทั่วไปที่ใช้บัตรเครดิตไปซื้อของที่ร้านซุปเปอร์สโตร์แบบบิ๊กซี โลตัส หรือคาร์ฟูร์ เช่น ซื้อน้ำมันพืช, ผลิตภัณฑ์นมที่มีและไม่มีเมลามีนผสม, ขนมขบเคี้ยว, ขาหมู ฯลฯ ก็มักชอบรูดบัตรเครดิตซึ่งก็คือการเปลี่ยนตัวเลขในธนาคารของลูกค้ากับซุปเปอร์สโตร์เท่านั้นเอง ไม่ได้มีการเปลี่ยนมือของธนบัตรจริงๆ เลย

ด้วยระบบแบบนี้ธนาคารจึงได้มีเงิน (ในกระดาษบัญชี ไม่ใช่เงินที่เป็นธนบัตรจริงๆ) ไปปล่อยให้ผู้คนและธุรกิจต่างๆ กู้เพื่อใช้จ่ายหรือสร้างและขยายธุรกิจ เมื่อมีการใช้จ่ายเงินกู้นั้นในร้านขายของแล้ว ร้านขายของเหล่านั้นก็เอาธนบัตรนั้นกลับมาฝากที่ธนาคารอีก ธนาคารก็เพิ่มบัญชีเงินฝากของธนาคารอีก เล่นวนกันไปมาอย่างนี้นี่แหละที่ทำให้มีเงินในธนาคารที่ไม่ใช่ธนบัตรเพิ่มได้ถึง 257 เท่า

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเห็นว่าธนาคารเล่นแบบนี้เป็นเรื่องหลอกลวงผิดศีลธรรม แต่หากจะเอาเฉพาะเงินที่อยู่ในรูปแบบของธนบัตรจริงๆ เศรษฐกิจจะไม่สามารถขยายตัวได้ เครดิตเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก มนุษย์ยอมรับว่า การที่เงินฝากอยู่ในธนาคารนั้นมีค่ามากกว่าการที่เงินถูกเก็บอยู่ในตุ่มหลังบ้าน เนื่องจากเงินที่ฝากอยู่ในธนาคารมีโอกาสที่จะได้เติบโต ออกดอกออกผล ในเมื่อนี่คือความเชื่อที่คนทั้งโลกมีร่วมกันเสียแล้ว บวกเข้ากับความจริงที่พิสูจน์กันมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า คนส่วนมากจะไม่ไปถอนเงินทั้งหมดที่มีอยู่ออกจากธนาคารพร้อมๆ กัน

ระบบเล่นวนกับตัวเลขในบัญชีเงินฝากของธนาคารจึงดำรงอยู่ได้

ที่พูดมาทั้งหมดนี่พูดถึงเวลาปกตินะที่คนผู้มีเงินฝากในธนาคารจะแห่กันไปถอนเงินจากธนาคารพร้อมๆ กัน แต่ถ้าไม่เวลาปกติเช่นปัจจุบันนี้ หากคนที่มีเงินฝากในธนาคารสักแค่ 20% แห่กันไปถอนเงินภายในวันเดียว รับประกันได้เลยว่าธนาคารไหนธนาคารนั้นที่ว่าแน่ๆ เจ๊งทุกราย เพราะไม่มีเงินในรูปธนบัตรจ่ายหรอก

นี่แหละถึงต้องมีธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะได้ให้เงินธนาคารกู้ไปจ่ายผู้ฝากเงินของธนาคารทั่วไป เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์ธนบัตรขึ้นเองได้ยังไงล่ะ!

แต่การพิมพ์ธนบัตรออกมาสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้หรอก เพราะว่าพิมพ์ออกมามากเกินไปธนบัตรก็เป็นแบงก์กงเต๊กเท่านั้น คนก็จะหันไปใช้ทองคำหรือโลหะอันมีค่าอื่นๆ แทน เพราะอย่างน้อยก็มีค่ามากกว่ากระดาษเปื้อนหมึกแน่ๆ

คราวนี้คงจะเข้าใจนะว่า ทำไมรัฐบาลทั่วโลกถึงต้องออกมาประกาศประกันเงินฝากในธนาคารของประชาชน 100% กันแทบทุกประเทศ และที่รัฐบาลไทยได้ยืดเวลาการประกันเงินฝากธนาคารของประชาชน 100% ออกไปอีก 3 ปี ทั้งๆ ที่กฎหมายเพิ่งออกไปหยกๆ ว่าจะประกันเงินฝากแค่ล้านเดียวต่อหนึ่งบัญชี/ธนาคารภายใน 5 ปี

ก็เพราะเงินฝากธนาคารตอนแรกนั้นมันเป็นเงินที่เป็นธนบัตรที่ไม่มีทองคำหนุนหลังจริงๆ ยังไงล่ะ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น